ร้อง กสทช. กำกับดูแลกรณีควบรวม ทรู-ดีแทค เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภค

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุ การควบรวม DTAC – CP กระทบผู้บริโภค พร้อมเรียกร้อง กสทช. กำกับดูแล เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภค

จากการที่กลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคประกาศควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรูมูฟ เอช และจะร่วมกันตั้งบริษัทขึ้นใหม่นั้น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9640000115701)

วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2564) พวงทอง ว่องไว อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ.กล่าวว่า ถึงแม้ในปัจจุบัน การควบรวมจะเกิดขึ้นในระดับผู้ถือหุ้น คือระหว่างเทเลนอร์และซีพี โดยยังไม่ได้ควบรวมในระดับบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม คือ ระหว่าง ดีแทคกับทรู แต่ก็ย่อมจะไม่มีการแข่งขันของบริษัททั้งสอง เพราะอยู่ภายใต้บริษัทแม่เดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง หรือหากควบรวมกันในระดับบริษัท นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่น้อยลงชัดเจนแล้ว ยังจะส่งผลต่อราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายด้วย

ด้านชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีค่ายมือถือ 3 ค่ายหลักที่แข่งขันกันอยู่ ทั้งด้านการพัฒนาบริการใหม่ ๆ การขยายพื้นที่การบริการ รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคา แต่หากมีการควบรวม แม้จะเป็นในระดับผู้ถือหุ้น อาจทำให้สัดส่วนแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป จากที่เคยมี 3 เจ้า เหลือเพียง 2 เจ้าเท่านั้น ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมากอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีระเด็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการที่อาจจะถูกเปิดเผยมากขึ้น

ในขณะที่ บุญยืน ศิริธรรม ประธาน สอบ. ตั้งข้อสังเกตว่า หากข้อตกลงระหว่างเทเลนอร์กับซีพีได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล และสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ได้ กิจการภายใต้บริษัทดังกล่าวจะมีส่วนแบ่งตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยถึงร้อยละ 52 จึงต้องการสอบถามไปยังคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า กรณีดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากมีส่วนแบ่งเกินครึ่งหนึ่งของตลาด

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวย้ำว่า สอบ. ขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องหาแนวทางในการกำกับดูแลกรณีดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดอำนาจเหนือตลาด และการผูกขาดทางการค้า ซึ่งส่งผลกระทบ และถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้ สอบ. มองว่า จำนวนผู้ให้บริการ หรือค่ายมือถือไม่ควรลดน้อยลงจากเดิมที่มีรายใหญ่ 3 ราย ดังนั้น กสทช. ควรมีมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่

ทั้งนี้ การดำเนินการของ สอบ. ในขั้นต่อไป คือ การจัดเวทีและทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการ กสทช. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) รวมไปถึงพรรคการเมือง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาแนวทางการควบรวมกิจการดังกล่าวต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค