ชี้จุดสำคัญแก้ กม. ประกอบกิจการพลังงาน ปลด กกพ. จากโซ่นักการเมือง – นายทุน ผู้บริโภคร่วมเป็น กก. สรรหา

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยสำนักงาน กกพ. ใช้จังหวะที่การเมืองอยู่ในความวุ่นวาย เปิดรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขกฎหมายการประกอบกิจการพลังงานอย่างเงียบเฉียบบนหน้าเว็บไซต์โดยไม่มีหนังสือแจ้งต่อองค์กรที่มีส่วนได้เสียเรื่องพลังงานอย่างสภาผู้บริโภค

แต่สภาผู้บริโภคเกาะติดจับตาความเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานอย่างต่อเนื่อง จึงได้ส่งความคิดเห็นต่อการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ โดยเน้นการแก้ไขตั้งแต่ชื่อกฎหมายที่ทำประชาชนสับสนในหน้าที่ของ กกพ. ที่กำกับดูแลเฉพาะพลังงานไฟฟ้า แต่ไม่ได้กำกับพลังงานโดยภาพรวม และยกประเด็นหลักที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงซึ่งต้องแก้ไขกฎหมายทันที คือ ความไม่เป็นอิสระของกรรมการที่ต้องอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐมนตรีพลังงาน และการไม่มีตัวแทนผู้แทนผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคในการสรรหาคณะกรรมการ กกพ. และขอให้ขยายเวลาการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภครับทราบการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. จากการติดตามงานด้านพลังงาน ซึ่งโดยแนวปฏิบัติสำนักงาน กกพ. ควรส่งหนังสือแจ้งเข้ามาที่สภาผู้บริโภค เนื่องจากกฎหมายนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง แต่ที่น่าสังเกตคือ การเปิดรับฟังความคิดเห็นกฎหมายสำคัญเช่นนี้มาเปิดในจังหวะการเลือกตั้งและรอการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังอยู่ในภาวะวุ่นวาย และมีการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายผ่านการสัมมนาในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ด้วยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายสำคัญ

สภาผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคตามกฎหมายได้จัดทำความคิดเห็นและส่งผู้แทนเข้าร่วมให้ความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน มีความเห็นที่สำคัญ 6 ข้อดังนี้

1. การประชาสัมพันธ์ประกาศการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างจำกัด พบว่าการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. เท่านั้น กฎหมายกำกับกิจการพลังงานเป็นกฎหมายสำคัญ จึงควรมีการขยายระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้ผ่านระบบสารสนเทศของสำนักงาน กกพ. ออกไปอีก 30 วันนับจากวันที่ 22 มิถุนายน 2566

2. ควรแก้ไขชื่อกฎหมายจาก “การประกอบกิจการพลังงาน” เป็น “การประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้า” เพื่อแก้ไขปัญหาความสับสนของประชาชน เนื่องจาก ตาม พ.ร.บ.ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ไม่ได้กำกับดูแลในกิจการสำรวจผลิตปิโตรเลียมและการผลิตจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง จะดูแลก็เฉพาะกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ จึงควรแก้ชื่อกฎหมายให้มีความชัดเจนว่าเป็นการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น

3. ควรแก้ไขกฎหมายแยกอำนาจกำกับกิจการพลังงานให้ออกจากอำนาจบริหารให้ชัดเจน เพื่อให้ คณะกรรมการ กกพ. มีความเป็นอิสระ โปร่งใสมากขึ้น ไม่ควรอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นข้าราชการเมือง ซึ่งกฎหมาย กกพ. ปัจจุบัน ให้อำนาจรัฐมนตรีพลังงานเป็นผู้พิจารณาแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการ กกพ. และงบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน รวมถึงเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบังคับและจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานของกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของ กกพ. ซึ่งทำให้เกิดการแทรกแซงการทำงานของ กกพ. ได้ง่ายมาก

4. ควรแก้ไขกฎหมายให้มีผู้แทนของสภาผู้บริโภค ซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 เข้าเป็นคณะกรรมการสรรหาแทนผู้แทนของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งถูกยกเลิกไป และควรลดสัดส่วนของอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ลดน้อยลง และให้เพิ่มสัดส่วนของผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านพลังงาน เป็นด้านละ 1 คน เข้าไปแทนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องระบบอุปถัมภ์และเพิ่มการมีส่วนขององค์กรประชาชนผู้มีส่วนได้เสียให้มากขึ้น

5. เห็นด้วยต่อการแก้ไขกฎหมายให้คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) มีอำนาจหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพิ่มเติม แต่ไม่เห็นด้วยที่จะลดอำนาจการวินิจฉัยเรื่องข้อพิพาทในพื้นที่ของ คพข. แล้วต้องส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการ กกพ. ซึ่งขัดกับหลัการกระจายอำนาจ และอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขข้อพิพาทได้

6. การแก้ไขกฎหมายในเรื่องบทลงโทษจากโทษจำคุกให้เหลือแต่เพียงโทษปรับ เห็นว่าควรเพิ่มโทษปรับให้มากขึ้น และให้เพิ่มโทษปรับเป็นรายวันในกรณีที่สามารถแก้ไขปัญหาได้แต่ผู้ประกอบการไม่ยอมแก้ไข ทั้งนี้เพื่อคงอำนาจบังคับใช้กฎหมายและเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินเฟ้อในปัจจุบัน

“กฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายสำคัญในการกำกับกิจการพลังงานไฟฟ้า เพราะปัจจุบันเกิดปัญหาเรื่องการมีโรงไฟฟ้าล้นระบบ การพึ่งพาเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศมากขึ้นตามลำดับ จนผลกระทบเกิดปัญหาค่าไฟฟ้า ค่า Ft ที่แพงขึ้น สำนักงาน กกพ. ควรจะรับทราบว่า สภาผู้บริโภคมีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมายและตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 จึงควรนำข้อคิดเห็นของผู้ร่วมให้ความเห็นและของสภาผู้บริโภคไปดำเนินการเพื่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ เพื่อให้ กกพ. สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับกิจการพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นอิสระ โปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม โดยไม่ถูกแทรกแซงจากอิทธิพลทางการเมืองหรือทางธุรกิจใดๆ” ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าว