สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์ ถามหาใช้กลไกทางกฎหมาย หยุดปล้นประชาชน

สภาผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ จี้ธนาคารต้องระงับบัญชีม้าชั่วคราวทันที หลังรับแจ้งถูกโจรกรรมดูดเงินจากบัญชี เพื่อระงับ ตัดตอนการโอนเงินต่​อไปบัญชีม้า พร้อมเร่ง ดีเอสไอ ติดตามหาคนขายข้อมูลกรมที่ดิน จนมิจฉาชีพ ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล สร้างความเสียหายที่ถือเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ มาลงโทษโดยเร็ว

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 สภาผู้บริโภคได้ออกแถลงการณ์ เร่งรัดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ธนาคารเอกชน และธนาคารแห่งประเทศไทยใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีช่วยเหลือประชาชน คุ้มครองผู้บริโภค ที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพทางเทคโนโลยี ที่หลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ สูญเสียเงินบัญชีในธนาคารไปเป็นจำนวนมาก และล่าสุดมิจฉาชีพได้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดิน ลวงผู้ประกาศข่าวสื่อทีวี ประวีณามัย บ่ายคล้อย ตกเป็นเหยื่อจนสูญเสียเงินถึง 1 ล้านบาท

ในแถลงการณ์ฉบับนี้ได้เรียกร้อง ขอให้ธนาคาร สถาบันการเงินที่มีอำนาจหน้าที่ ตามพระราชกำหนดมาตการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ให้สถาบันการเงินระงับบัญชีนั้นชั่วคราวนั้นไว้ 72 ชั่วโมงในทันทีที่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย เจ้าของบัญชี ที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง หรือกระทำเข้าข่ายก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีบัญชีเงินในธนาคาร เพื่อระงับ ยับยั้ง การโอนเงิน และความเสียหายจากการสูญเสียเงินของประชาชน ผู้บริโภค เนื่องจากที่ผ่านมาหลังยังมีธนาคารหลายแห่งไม่ระงับธุรกรรมบัญชีที่ต้องสงสัยทันที ความล่าช้าที่ผู้เสียหายต้องเข้าแจ้งความก่อน จึงกลายเป็นช่องว่างให้อาชญากรโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย แล้วโอนต่อไปยังบัญชีม้าอีกหลายทอดได้อย่างรวดเร็ว มีผลให้ไม่สามารถติดตามรับเงินคืนได้​​​​

ด้วยเหตุนี้ สภาผู้บริโภคจึงขอให้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องได้ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หน้าที่และขั้นตอนอย่างชัดเจน อย่างเคร่งครัด ในการระงับบัญชีชั่วคราวทันทีหลังรับแจ้ง และให้ธนาคารนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนเงินทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทันทีเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา พร้อมเรียกร้องให้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบ เยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายในกรณีหากความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากการไม่ระงับบัญชีต้องสงสัยดังกล่าว ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องมีมาตรการลงโทษ ธนาคารพานิชย์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ สภาผู้บริโภคยังขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เร่งติดตามผู้ที่ขายข้อมูลกรมที่ดินจนมิจฉาชีพนำข้อมูลหลอกเหยื่อ และเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง อาจมีเจ้าพนักงานกรมที่ดินมีส่วนรับรู้ ฉ้อฉลข้อมูล ดีเอสไอจึงควรติดตามตัวนำมาลงโทษ การกระทำดังกล่าวและการใช้ข้อมูลของมิจฉาชีพและคอลเซนเตอร์ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงและถือเป็นการบั่นทอนความมั่นคงของชาติ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค