สภาผู้บริโภคช่วยเหยื่อถูกดูดเงิน ศาลยันผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายหนี้

วันนี้ (15 กรกฎาคม 2568) อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ฟ้องผู้บริโภคให้รับผิดชอบหนี้บัตรเครดิตเป็นจำนวนเงินกว่า 370,000 บาท หลังเกิดเหตุการณ์ที่ถูกมิจฉาชีพหลอกเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิต โดยผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกรรมด้วยตัวเอง

ในคดีนี้ สภาผู้บริโภคได้มอบหมายทนายความเข้าให้ความช่วยเหลือด้านคดีให้กับผู้บริโภค หลังได้รับการร้องเรียนว่าถูกธนาคารฟ้องเรียกหนี้จากการถูกหลอกลวงทางเทคโนโลยี โดยมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงระบบแอปพลิเคชันของธนาคาร และเบิกถอนเงินสดจำนวน 297,000 บาท รวมถึงค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยรวมยอดที่ธนาคารฟ้องเรียกรวมกว่า 371,608.56 บาท

คำพิพากษาของศาลระบุชัดว่า ธนาคารในฐานะผู้ให้บริการระบบชำระเงินตาม พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 มีหน้าที่ต้องจัดให้มีระบบและมาตรการความปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันธุรกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่บุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงแอปฯ และทำธุรกรรมถอนเงินได้โดยไม่ได้รับอนุญาต แสดงถึงความบกพร่องของระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคาร

นอกจากนี้ ศาลยังพิจารณาว่า ผู้บริโภคในคดีดังกล่าวไม่เคยมีพฤติกรรมเบิกถอนเงินสดมาก่อนเลย การที่เกิดธุรกรรมถอนเงินจำนวนมากในเวลาอันสั้นจึงถือเป็นความผิดปกติที่ธนาคารควรตรวจสอบและยับยั้ง ไม่ใช่ปล่อยให้ดำเนินการโดยอัตโนมัติ และผลักภาระความเสียหายมาให้ผู้บริโภคในภายหลัง อีกทั้งคำพิพากษายังอ้างถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ที่ระบุว่าผู้บริโภคมีสิทธิได้รับบริการที่ปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ

อิฐบูรณ์ ระบุว่า คดีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่สถาบันการเงินต้องมีระบบการคัดกรองธุรกรรมที่ปลอดภัย และไม่ควรผลักความรับผิดชอบจากภัยไซเบอร์ไปยังผู้บริโภคผู้บริสุทธิ์ พร้อมย้ำว่าผู้บริโภคที่ถูกดูดเงินจากบัญชีหรือวงเงินบัตรเครดิตโดยไม่ได้กระทำเอง ไม่จำเป็นต้องยอมรับผิดชอบหนี้สินเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ

“กรณีนี้เป็นอีกหนึ่งชัยชนะของผู้บริโภค และเป็นบรรทัดฐานที่ชัดเจนว่า ผู้บริโภคต้องได้รับความยุติธรรม ไม่ใช่ตกเป็นผู้รับผิดจากความบกพร่องของระบบของผู้ให้บริการ โดยเฉพาะในยุคที่ภัยไซเบอร์และการหลอกลวงทางเทคโนโลยีมีความซับซ้อนและแพร่หลาย สถาบันการเงินต้องมีระบบป้องกันที่รัดกุม ไม่ใช่ผลักภาระความเสียหายมาให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ” อิฐบูรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่พบปัญหาถูกหลอกโอนเงิน หรือพบธุรกรรมผิดปกติ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือและคำปรึกษาจากสภาผู้บริโภคได้ที่ สายด่วน 1502 หรือผ่านเว็บไซต์ https://complaint.tcc.or.th/complaint