ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสุขภาพ ประจำเดือน ก.พ. 67

เตรียมจัดทำข้อเสนอนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคเรื่อง สิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด

จากสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีประชากรกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือ 1.กลุ่มผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่ประกอบไปด้วยสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งหลายชนิด โดยความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามปริมาณและระยะเวลาที่สูบ 2.กลุ่มผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับสารเคมีอันก่อให้เกิดโรคมะเร็งเป็นระยะเวลานาน และ 3.กลุ่มผู้ที่อาศัยที่มีในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานมาเป็นระยะเวลานาน

เหตุที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นจำนวนมากเพราะขาดการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองครอบคลุมโรคมะเร็งมีจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม และการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงเท่านั้น

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 จึงได้พิจารณาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่อง สิทธิประโยชน์ด้านการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด โดยฝ่ายเลขานุการเสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณา ดังนี้

1) ขอให้คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาบรรจุสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด ให้ประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดได้ทุกคน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง แทนการตรวจคัดกรองในประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูง

2) ขอให้คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สปสช. พิจารณายกระดับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด โดยใช้วิธี Low-dose CT Scan แทนการตรวจคัดกรองด้วยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก (X-Ray) เนื่องจากสามารถตรวจพบจุดหรือก้อนเนื้อที่อยู่ในปอดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

3) ขอให้ สปสช. สนับสนุนงบประมาณในด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่เขตบริการสุขภาพเพื่อใช้เป็นงบประมาณในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าควรมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เนื่องจากในปัจจุบันเกณฑ์การตรวจโรคมะเร็งปอดทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงเสนอให้ประสานงานกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมสถานการณ์ปัญหาและข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดในเขตภาคเหนือ อีกทั้งการเสนอให้มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดผ่านกลไกของ สปสช. นอกจากนี้ต้องมีการประสานขอข้อมูลงานวิจัยเรื่อง การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าคุ้มค่าและคุ้มทุนกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อนำมาจัดทำข้อมูลประกอบการจัดทำข้อเสนอของสภาผู้บริโภค

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค