ประเทศไทย ปัญหาสิทธิผู้บริโภค ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ และภายใต้ระบบการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ยังดูเหมือนเป็นปัญหาส่วนบุคคล หากมองและแก้ปัญหานี้ในระดับบุคคล ผู้บริโภคหนึ่งคนก็ยากที่จะมีทุนทรัพย์หรือกำลังในการเรียกร้องความเป็นธรรม ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามจัดตั้ง “สภาองค์ผู้บริโภค” เป็นหน่วยงานอิสระระดับชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในเรื่องต่างๆ โดยตรง เพื่อดูแล เฝ้าระวังปัญหา รวมถึงเป็นตัวแทนผู้บริโภค
แต่เดิมประเทศไทยมีองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคหลายองค์กร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือหน่วยงานกำกับดูแลของภาคส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตาม รัฐยังคง มีบทบาทเป็นผู้มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่เพียงฝ่ายเดียว และดำเนินงานตามนโยบายของหน่วยงาน ซึ่งมักจะแยกส่วนกันตามภารกิจขององค์กรตน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาของผู้บริโภค อีกหลายประการ ที่อาจอยู่นอกเหนือ ขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะดูแลได้ เช่น การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า หรือการปรับอัตราค่าทางด่วน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐอื่น หรืออยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงมีข้อจำกัดในการตรวจสอบนโยบาย หรือการดำเนินงาน ของหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง ต่อมาจึงมีแนวคิดจัดตั้งองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นอิสระทั้งจากรัฐ และจากทุนเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคโดยตรง
หัวใจสำคัญของการจัดตั้งคือ การมีตัวแทน (Representation) ของผู้บริโภคเข้ามาปกป้องและพิทักษ์สิทธิของตนเอง ผ่านการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องต่าง ๆ เพื่อให้เสียงของผู้บริโภคถูกรับฟัง และมีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจด้านนโยบายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค อันเป็น แนวทางที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
สภาผู้บริโภค จึงเป็นตัวแทนของผู้บริโภคโดยตรง ในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ทั้งการเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัย ไกล่เกลี่ยฟ้องคดีแทน รวมถึงการเสนอนโยบาย ต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมีความเข้มแข็งและให้การดำเนินการต่าง ๆ สะดวกยิ่งขึ้น ในลักษณะเดียวกันกับองค์กร ภาคเอกชนที่ได้รับมอบอำนาจให้มีส่วนร่วมบริการสาธารณะตามกฎหมาย