รู้จัก “กฎหมายไซเบอร์” ความหวังการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ 

ปัญหาถูกหลอกเงินออนไลน์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นกรณีนักเรียนหญิงวัย 19 ปี ถูกหลอกขาย ไอโฟนออนไลน์ 18,000 บาท เชิดเงินหนีไปจนเครียดและผูกคอตาย หรือกรณียายวัย 82 ปี ซึ่งเป็นข้าราชการเกษียณ ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หลอกให้โอนเงิน 2.58 ล้านบาทจึงพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยานอนหลับ 40 เม็ด

รูปแบบที่หลากหลายของการหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่พยายามสร้างความน่าเชื่อถือจนผู้เสียหายต้องตกหลุมพราง ซึ่งจากข้อมูลกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พบว่าสถิติการแจ้งความออนไลน์สะสมนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 28 มิถุนายน 2566 ส่วนใหญ่เป็นคดีออนไลน์ทั้งสิ้น 285,917 คดี ยอดมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากทำให้ภาครัฐต้องออก พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566

สำหรับรายละเอียดสำคัญ ๆ ของ “พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566” ที่ผู้บริโภคควรรู้ มีดังนี้

1. คนที่เป็นเจ้าของบัญชีม้าหรือเบอร์ม้าจะมีโทษอาญาสถานหนัก จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. คนจัดหาบัญชีม้าด้วยการจ้างผู้อื่นมาเปิดบัญชีม้าก็มีโทษหนักเช่นเดียวกัน คือ จำคุกตั้งแต่ 2- 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ข้อมูลบัญชีม้าจะถูกธนาคารและเจ้าหน้าที่ส่งต่อให้กันเพื่อระงับช่องทางการทำธุรกรรมและอายัดบัญชีด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยระงับความเสียหายของผู้เสียหายได้

4. ผู้เสียหายสามารถแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจเพื่อแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว

5. จากนั้นให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 72 ชั่วโมง โดยมีการระบุขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรมไว้ชัดเจนและรวดเร็ว และเมื่อผู้เสียหายไปร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจะพิจารณาดำเนินการกับบัญชีธนาคารดังกล่าวภายใน 7 วัน

6. มีการเพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุ โดยกำหนดให้ผู้เสียหายแจ้งข้อมูลโดยง่ายและเร็ว สามารถแจ้งข้อมูลหรือหลักฐานทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้

7. ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่ใดก็ได้ โดยไม่ต้องถามว่าเหตุเกิดที่ใดในประเทศไทย หรือแจ้งผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ถือว่าเป็นการร้องทุกข์ และพนักงานสอบสวนนั้นมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิอาญา นั่นแปลว่าผู้เสียหายสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน (หรือสถานีตำรวจใดก็ได้) อีกด้วย

สำหรับผู้บริโภคที่ถูกหลอกเงินออนไลน์ให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจได้ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งยังสามารถแจ้งความออนไลน์ ได้ที่ www.thaipoliceonline.com และสายด่วน 1441 นอกจากนี้ สามารถแจ้งกับธนาคารเจ้าของบัญชีของตัวเองเพื่ออายัดบัญชีคนร้ายได้ตามระบบปกติได้ด้วย กรณีมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ตำรวจศูนย์ PCT หมายเลขโทรศัพท์ 081 – 866 – 3000

หรือติดต่อสภาผู้บริโภคได้ตามช่องทางต่อไปนี้ เว็บไซต์สภาผู้บริโภค www.tcc.or.th หรือคลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/ ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official Account) : @tccthailand หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค อีเมล : [email protected] หรือโทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081134 9215 หรือ 081134 9216

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ตำรวจไซเบอร์ #กฎหมายไซเบอร์ #แก๊งคอลเซ็นเตอร์ #หลอกเงินออนไลน์ #โอนเงินออนไลน์ #มิจฉาชีพ #สายด่วน1441