ห่วงคุ้มครองผู้บริโภค – MVNO เตือนกสทช. อย่าด่วนรับรองประมูลคลื่น

หากไร้คำตอบเรื่อง MVNO – เงื่อนไขคุ้มครองผู้บริโภค เรียกร้อง กสทช. ชะลอรับรองผลประมูลคลื่นความถี่ สภาผู้บริโภคเตือนอาจกระทบสิทธิผู้ใช้บริการทั้งประเทศ หากเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 รายใหญ่

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2568) สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค เรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชะลอการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ออกไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยเฉพาะอนาคตของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแบบเสมือนที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง แต่จะเช่าโครงข่ายจากผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ หรือ เอ็มวีเอ็นโอ (MVNO) และเงื่อนไขการคุ้มครองผู้บริโภค

“เรียกร้อง กสทช. หยุดเร่งรัดรับรองมติประมูลในวันอาทิตย์ ทั้งที่ยังมีคำถามค้างคา อนาคตผู้เล่นรายย่อยจะหายไปหรือไม่ และมีหลักประกันคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร รวมถึงข้อกังขาเรื่องการไม่รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” สุภิญญา ระบุ

ในเวทีระดมความคิดเห็น “เผยผลกระทบผู้บริโภค หลังควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ให้บริการรายย่อย ซึ่งแสดงความกังวลอย่างมากต่อโอกาสในการแข่งขันในอนาคต หากไม่มีเงื่อนไขหรือกลไกที่เอื้อต่อการเข้าถึงโครงข่าย และการกำกับดูแลที่ชัดเจนจาก กสทช. หากไร้หลักประกันสำหรับผู้เล่นรายย่อย การประมูลครั้งนี้ก็เท่ากับปิดประตูทางเลือกของผู้บริโภค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุภิญญา กลางณรงค์ ห่วงคุ้มครองผู้บริโภค - MVNO เตือนกสทช. อย่าด่วนรับรองประมูลคลื่น

สุภิญญา เสนอว่า กสทช. ต้องเปลี่ยนบทบาทจากหน่วยงานที่ออกใบอนุญาต ไปสู่การกำกับดูแลเชิงรุกและทันสมัยมากขึ้น เช่น ใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อตรวจสอบคุณภาพเครือข่ายทั่วประเทศ แทนการตรวจแบบไตรมาสหรือรอรายงานจากผู้ให้บริการ และต้องสามารถบังคับใช้เงื่อนไขการกันความจุโครงข่ายอย่างน้อย 10% สำหรับ MVNO ได้จริง ไม่ใช่เพียงเป็นข้อกำหนดที่ไม่เคยเกิดผลในทางปฏิบัติ

“กสทช. ต้องไม่ปล่อยให้ผู้เล่นรายย่อยไปต่อรองกับผู้ให้บริการรายใหญ่แบบตัวคนเดียว เพราะสุดท้ายก็อาจถูกตั้งเงื่อนไขที่ทำให้เช่าใช้โครงข่ายไม่ได้จริง” สุภิญญา กล่าว พร้อมระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลต้องเป็นเจ้าภาพกลางที่ช่วยให้ผู้เล่นรายย่อยเข้าถึงโครงข่ายได้ในราคาที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ สุภิญญายังแสดงความกังวลต่อสถานะของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที (NT) ซึ่งมีแนวโน้มชัดเจนว่าอาจถอนตัวจากตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปในอนาคต โดยหาก NT ออกไปจริง และไม่มีผู้เล่นรายย่อย เหลืออยู่ในตลาด เท่ากับผู้บริโภคเหลือทางเลือกแค่ 2 รายใหญ่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการแข่งขันและสิทธิเสรีภาพในระยะยาว

แม้แต่กรณีของผู้ที่จะได้รับคลื่นจาก NT ก็จำเป็นต้องมีคำตอบที่ชัดเจนก่อนจะมีการรับรองผลการประมูล เพราะคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะที่ควรจัดสรรเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ใช่เพียงเพื่อความสะดวกของผู้ประกอบการ หากไม่มีหลักประกันใด ๆ สำหรับคลื่นที่ถ่ายโอนจาก NT ก็อาจหมายถึงการปิดฉากทางเลือกของภาครัฐและผู้บริโภคในอนาคต

ดังนั้นจึงเห็นว่าบทบาทของ NT ในฐานะรัฐวิสาหกิจควรถูกเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เล่นรายที่สามที่ถ่วงดุลกับภาคเอกชน คล้ายกับบทบาทของธนาคารกรุงไทยหรือ ปตท. พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมภาครัฐจึงไม่บังคับให้หน่วยงานของรัฐใช้บริการโทรคมนาคมจาก NT เหมือนที่บังคับใช้บริการจากรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ          

ท้ายที่สุด สุภิญญาย้ำว่า การประมูลคลื่นความถี่ไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคหรือรายได้ของรัฐ แต่คือการกำหนดอนาคตโครงสร้างอำนาจของประเทศในด้านการสื่อสาร หากไร้คำตอบเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค และความอยู่รอดของผู้เล่นรายย่อยเท่ากับเปิดทางให้เกิดการผูกขาดอย่างถูกต้องตามขั้นตอน จึงเรียกร้องให้ กสทช. อย่าเพิ่งรับรองผลประมูล จนกว่าจะตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน