โต้สำนักงาน กสทช. ลดราคาลง 12% อยู่ไหน? กด SMS ไม่ทัน โดนเปลี่ยนโปรฯ ได้ไง?

จากการที่สำนักงาน กสทช. ได้เปิดแถลงข่าวว่าสำนักงาน กสทช. ได้มีการตรวจสอบและติดตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ กสทช. กำหนดขึ้นหลังได้มีการควบรวมสองค่ายมือถือ ทรู – ดีแทค และแจ้งว่าบริษัทฯ ใหม่หลังการควบรวมได้ทำตามเงื่อนไขเกือบทั้งหมดภายในเวลาที่กำหนด แต่คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามผลการควบรวมทรู – ดีแทค ของ กสทช. แย้งว่าคณะอนุกรรมการฯ ยังไม่เคยรับรองว่าผู้ให้บริการได้ลดราคาค่าบริการลง 12% ตามเงื่อนไขควบรวมแล้ว พร้อมชวนผู้บริโภคเก็บหลักฐานทั้งคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตและการเปลี่ยนแพ็กเกจหรือโปรโมชันไม่แจ้งล่วงหน้า ถึง กสทช. เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีประชาชนที่ประสบปัญหามากกว่า 17 ราย อย่างที่สำนักงาน กสทช. รายงาน

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดแถลงข่าว ‘มาตรการเยียวยาผู้บริโภค ในเรื่องอัตราค่าบริการ คุณภาพสัญญาณ และแพ็กเกจการให้บริการ หลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่างทรูและดีแทค” พร้อมยืนยันบริษัทฯ ใหม่หลังควบรวมกิจการได้ทำตามเงื่อนไขเกือบครบแล้ว ต่อมา นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม กสทช. ได้โต้แย้งข้อมูลในการแถลงข่าวของสำนักงาน กสทช. ว่ายังไม่ปรากฎว่าบริษัทฯ ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดดังกล่าว ในขณะที่ผลการควบรวมสร้างผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างมาก ซึ่งเนื้อหาการแถลงข่าว และประเด็นโต้แย้ง มีดังต่อไปนี้

สำนักงานกสทช. : ยืนยันว่าบริษัทฯ ได้ลดราคาค่าบริการมือถือโดยเฉลี่ยลงร้อยละ 12 โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ระบุว่าบริษัทฯ นำแพ็กเกจที่มีผู้ใช้จำนวนมากมาเฉลี่ยราคาใหม่ รวมถึงการระบุว่าบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะได้เกือบครบถ้วนแล้ว

นพ.ประวิทย์ : ในมติของคณะอนุกรรมการฯ ติดตามผลการควบรวมทรู – ดีแทค ยังไม่เคยมีการรับรองว่าบริษัทฯ ได้ลดราคาค่าบริการลงร้อยละ 12 จริงตามที่สำนักงาน กสทช. แถลงข้างต้น ซึ่งการแถลงของสำนักงาน กสทช. อาจไม่ตรงกับมติของคณะอนุกรรมการฯ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละโปรโมชันถูกต้องหรือไม่ และมีโปรโมชันที่ไม่เปิดเผยเป็นการทั่วไปตามประกาศ กสทช. ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จริง จึงทำให้คณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถตรวจสอบจากฐานข้อมูลของบริษัทฯ ได้โดยตรงว่าเป็นไปตามที่บริษัทฯ แจ้งหรือไม่

นอกจากนี้ ต้องมีการกำหนดอัตราค่าบริการตามต้นทุนเฉลี่ย (Average Cost Pricing) ในกรณีค่าบริการแยกส่วน (เช่น บริการเสียง ส่งข้อความ ส่งข้อมูล) และใช้กับกรณีค่าบริการส่วนเกินโปรโมชันที่เกิดจริง แต่บริษัทฯ ยังคงคิดราคาส่วนเกินโปรโมชันในราคาที่สูงกว่าต้นทุนเฉลี่ยซึ่งน่าจะไม่เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้ และในส่วนการตั้งที่ปรึกษาเพื่อสอบทานข้อมูลต้นทุนการเงิน หากบริษัทฯ ยังไม่ดำเนินการแต่งตั้ง กสทช. ควรมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแทนได้ แล้วให้บริษัทฯ รับภาระค่าใช้จ่าย

อีกประเด็นหนึ่ง แม้จะปรากฎรายการส่งเสริมการขายแบบเสนอเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลตามพฤติกรรมการใช้งานเพื่อนำมาแสดงว่าได้มีการลดราคาร้อยละ 12 แล้ว แต่เมื่อไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ารายการนี้มีประมาณเท่าไร ก็บอกไม่ได้ว่ามีผลต่อการลดราคาจริงหรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ควรพิจารณาแนวทางการตรวจสอบด้วยเช่นกัน นอกจากนี้แล้วแผนนวัตกรรมที่บริษัทฯ ส่งมาให้กับคณะอนุกรรมการฯ ยังไม่เป็นรูปธรรมและขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้ไขเพื่อให้บริษัทฯ ส่งกลับมาให้พิจารณาอีกครั้ง

ส่วนแพ็กเกจสำหรับคนด้อยโอกาส คนพิการ หรือคนจนที่มีอยู่ในราคา 100 บาท ได้อินเทอร์เน็ต 10 GB ยังมีราคาที่สูงไปและไม่ต่างจากแพ็กเกจที่มีอยู่เดิมก่อนการควบรวมกิจการ ปัจจุบันคณะอนุกรรมการฯ ได้มีแนวคิดให้บริษัทฯ ลดราคาค่าบริการเหลือเพียงแพ็กเกจละประมาณ 47 บาท เพื่อให้คนด้อยโอกาส คนพิการ หรือคนจนเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้

โดยสรุป คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่เคยยืนยันด้วยว่าบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่กำหนดให้บริษัทฯ ปฏิบัติทั้งก่อนและหลังการควบรวมกิจการได้เกือบครบถ้วนแล้ว ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้แถลงไว้

สำนักงาน กสทช. : บริษัทฯ ยังคงมีแพ็กเกจราคา 299 บาท/เดือน อยู่

นพ.ประวิทย์ : หากยังมีแพ็กเกจข้างต้นจริง บริษัทฯ ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะและผู้บริโภคจะต้องสามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์หรือที่ทำการของแต่ละค่ายมือถือได้ ซึ่งตามประกาศ กสทช. กำหนดไว้ว่าทุกรายการส่งเสริมการขายจะต้องเผยแพร่ให้สาธารณะรับรู้ ดังนั้น การอ้างว่ายังมีอยู่ แต่ไม่มีการเผยแพร่โดยสาธารณะและผู้บริโภคจะต้องสอบถามกับศูนย์บริการหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ อาจเป็นไปได้ว่าไม่ปฏิบัติตามที่ประกาศ กสทช. กำหนดใช่หรือไม่

สำนักงาน กสทช. : บริษัทฯ ไม่ได้มีการบังคับให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแพ็กเกจอัตโนมัติแต่อย่างใด แต่จะมีเพียงการส่งเอสเอ็มเอสก่อนครบกำหนด 30 วันที่แพ็กเกจจะหมดลง ไปถึงผู้บริโภคว่าจะใช้แพ็กเกจเดิมหรือต้องการเปลี่ยนแพ็กเกจใหม่

นพ.ประวิทย์ : หากผู้บริโภคไม่ได้กดลิงก์ในเอสเอ็มเอสเพื่อเปลี่ยนแพ็กเกจ ผู้บริโภคยังควรได้ใช้แพ็กเกจเดิม โดยในประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อ 18 ระบุชัดว่า “เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานและผู้ใช้บริการไม่เลือกรายการส่งเสริมการขายใหม่ ให้ผู้รับใบอนุญาตคงให้บริการตามรายการส่งเสริมการขายเดิมเป็นลำดับแรก”

ดังนั้นการกำหนดเปลี่ยนแพ็กเกจอัตโนมัติ หากผู้บริโภคไม่กดเอสเอ็มเอสภายใน 30 วันจึงไม่ตรงกับข้อกำหนดดังกล่าว เพราะหากมีการเปลี่ยนแพ็กเกจให้กับผู้บริโภคโดยอัตโนมัติก็เท่ากับผู้บริโภคถูกบังคับให้เปลี่ยน ถูกจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือเลือกใช้บริการและทำให้ผู้บริโภคต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งตามประกาศข้อกำหนด สำนักงาน กสทช. ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

สำนักงาน กสทช. : บริษัทฯ ไม่ได้มีการปรับลดจำนวนจุดรับส่งสัญญาณ (Cell Site) ลงจากเดิม แต่มีการเคลื่อนย้ายจุดรับสัญญาณในบางจุดซึ่งทำให้ส่งผลกระทบกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่อาจช้าลง และสำนักงาน กสทช. ได้แจ้งให้บริษัทฯ ต้องแจ้งกับผู้บริโภคว่าก่อนที่จะเคลื่อนย้ายในวันหรือเวลาใดบ้างเพื่อให้ผู้บริโภครับทราบว่าการโทรศัพท์หรือการใช้อินเทอร์เน็ตอาจสะดุดหรือช้าลง

นพ.ประวิทย์ : ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพักหรือหยุดการให้บริการโทรคมนาคม กำหนดให้ บริษัทฯ จะต้องแจ้งกับ กสทช. และผู้บริโภคล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน เนื่องจากการขออนุญาตตั้งพิกัดเสาสถานีจะมีการระบุพิกัดเป็นบ้านเลขที่ หรือมีการระบุเส้นรุ้ง เส้นแวง หากมีการย้ายจุดจะต้องขอเปลี่ยนแปลงข้อมูล เพราะการย้ายจุดจะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการใช้บริการไม่ได้หรือสัญญาณสะดุด

ดังนั้น การย้ายจุดรับส่งสัญญาณโดยไม่มีการแจ้งก่อนอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนนี้ต้องการให้สำนักงาน กสทช. เร่งตรวจสอบว่าบริษัทฯ มีแผนอย่างไรในการปรับหรือลดจุดรับสัญญาณหรือได้มีการเตรียมแผนประขาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบแล้วหรือไม่

สำนักงาน กสทช. : จากการลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือของทรูและดีแทค พบว่า คุณภาพสัญญาณไม่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ อีกทั้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณมีเพียง 17 เรื่องเท่านั้น

นพ.ประวิทย์ : ปัจจุบันผู้บริโภคที่ประสบปัญหาอาจเกิดจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตไปจำนวนหนึ่งจนถึงระดับที่แต่ละค่ายจำกัดความเร็วแม้จะยังใช้ไม่ถึงปริมาณที่ตนเองสมัคร และการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นการขับรถทดสอบในระยะเวลาไม่นานอาจยังใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ถึงระดับที่ค่ายมือถือจะลดความเร็ว จึงตรวจไม่พบปัญหา

ดังนั้น ขอขอเชิญชวนให้ผู้บริโภคเก็บหลักฐานเกี่ยวกับปัญหาการใช้บริการ อาทิ เอสเอ็มเอสเสนอบริการเปลี่ยนแพ็กเกจหรือโปรโมชัน หรือหลักฐานคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ต และส่งเรื่องร้องเรียนใหักับ กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเชื่อว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนในประเด็นคุณภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคหลังการควบรวมอาจมีปริมาณมากกว่าเรื่องร้องเรียนตามที่สำนักงาน กสทช. แถลง และข้อมูลจากการร้องเรียนของสำนักงาน กสทช. จะพบว่าสัดส่วนเรื่องร้องเรียนประเด็นคุณภาพสัญญาณในปี 2565 มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 6 แต่ในปี 2566 สัดส่วนเรื่องร้องเรียนปัญหาคุณภาพสัญญาณเพิ่มเป็นร้อยละ 9

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค