จี้ กสทช. หยุดตีความสับสน หากไม่ใช้อำนาจพิจารณาควบรวมฯ เตรียมรับ ม. 157

สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ สำนักงาน กสทช. ต้องหยุดปล่อยข้อมูลสร้างความสับสนต่อสาธารณะ กรณีกฤษฎีกาให้ความเห็นกรณีควบรวม ค่ายมือถือ “ทรู – ดีแทค” ที่สอดคล้องกับคำสั่งศาลปกครอง คือ กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการ แต่สำนักงาน กสทช. ยังตีความต่อสาธารณะว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการพิจารณา หากยังยืนยันไม่เดินหน้าตัดสินการควบรวมฯ กสทช. เตรียมรับข้อหา ม.157 ละเลยการปฏิบัติหน้าที่

วันนี้ (21 กันยายน 2565) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่าขณะนี้ สำนักงาน กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) กำลังทำให้สาธารณะเข้าใจผิดจากการออกข่าวว่า สำนักงานกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า กสทช.ไม่มีอำนาจตามกฏหมายในการพิจารณาประเด็นควบรวมค่ายมือถือ หลังจากที่สำนักงาน กสทช. ได้ส่งหนังสือขอความเห็นกฤษฎีกา ผ่านรักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้รับความเห็นกลับมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565

“หากอ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าคำวินิจฉัยคล้ายกับศาลปกครองที่ออกมาก่อนหน้า คือ กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคมแต่คณะกรรมการกฤษฎีกาอาจจะเขียนออกมาไม่ชัดเจนเท่าไรจึงทำให้สำนักงาน กสทช. ตีความผิดและปล่อยข้อมูลไปว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว

ทั้งนี้ การตีความของกฤษฎีการะบุออกมาชัดเจนว่า ประกาศฯ กสทช. ปี 2561 ยังมีผลใช้บังคับและหากผู้ประกอบการมือถือต้องการรวมธุรกิจเข้าด้วยกันจะต้องทำตามประกาศฯ กสทช. ปี 2561 หมายความว่า การรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคเป็นการรวมธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งเป็นอำนาจของ กสทช. ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าอำนาจในการพิจารณาควบรวมกิจการครั้งนี้เป็นอำนาจของ กสทช. เต็มขั้น

“สิ่งที่สำนักงาน กสทช. เข้าใจผิดว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคม ถือว่าส่งผลเสียต่อสาธารณะมากและอาจเข้าข่ายว่าสำนักงาน กสทช. กำลังให้ข้อมูลเท็จกับสาธารณะใช่หรือไม่” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคตั้งคำถาม

ในส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม หากดูตามมาตรา 21 และ 22 ตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ระบุว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค กำกับกิจการโทรคมนาคม ทำให้กิจการโทรคมนาคมเกิดการแข่งขัน ลดการผูกขาด และกำกับดูแลการกระทำดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคมและประชาชนผู้ใช้บริการ

ส่วนหน้าที่การพัฒนากิจการโทรคมนาคมไม่ได้เป็นหน้าที่ของ กสทช. แต่เป็นบทบาทของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีเพียง กสทช. เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นประธานกองทุน อีกทั้งการกล่าวอ้างว่า กสทช. สามารถใช้วิธีการกำกับราคาได้นั้นไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะการใช้ค่าเฉลี่ยจากแพ็คเกจที่ไม่มีผู้บริโภคใช้งานหรือจำกัดการขายแพ็คเกจต่าง ๆ มาคิดเหมารวมด้วย ขณะที่ราคาส่วนเกินโปรโมชันไม่ได้คิดรวม จะทำให้ราคาที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายแพงขึ้น

สารี กล่าวเสริมว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคอยากเห็น กสทช. ออกมายับยั้งสำนักงาน กสทช. ทันที ในการให้ข้อมูลที่อาจเข้าข่ายการให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เช่นเดียวกับกรณีเมื่อครั้งที่ กสทช. ออกมายับยั้งกรณีข้อเท็จจริงห้าประการที่ส่งผลกระทบหากมีการควบรวมกิจการ

“สภาองค์กรของผู้บริโภคยังมีความคาดหวังเป็นอย่างมากที่จะไม่เห็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งนี้ เนื่องจากในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีประธาน กสทช. เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ด้วย ดังนั้นจึงขอให้ กสทช. ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ” สารี กล่าว

อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภคพร้อมร่วมฟ้องคดี กสทช. ร่วมกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นที่ กสทช. ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในขณะที่ทั้งศาลปกครองและกฤษฎีกายืนยันแล้วว่า กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคม

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคชวนผู้บริโภคทุกคนร่วมฟ้องคดีกับสภาองค์กรของผู้บริโภค อีกทั้งร่วมแสดงพลังให้ กสทช. รู้ว่าประชาชนไม่เอาควบรวมทรู – ดีแทค ผ่านการร่วมลงชื่อรณรงค์ต่อต้านการผูกขาดทางการค้ากรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ได้ที่ Change.org/TrueDtac และร่วมกันติดแฮชแท็ก #หยุดผูกขาดมือถือ ในทุกช่องทาง

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค