หน่วยงานเขตภาคเหนือเสริมแกร่งคนรุ่นใหม่ สร้างนักขับเคลื่อนคุ้มครองผู้บริโภค

Getting your Trinity Audio player ready...

หนึ่งในภารกิจของหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ คือการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้พร้อมก้าวสู่การขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ เวทีพัฒนาคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเจ้าหน้าที่คนรุ่นใหม่ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระหว่างวันที่ 17–18 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา จังหวัดพะเยา จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างเจ้าหน้าที่และเครือข่ายสมาชิกให้เติบโตเป็นนักขับเคลื่อนรุ่นใหม่ที่พร้อมปกป้องสิทธิของผู้บริโภคในอนาคต โดยมีทีมวิทยากรจาก Café Can Do ร่วมเสริมสร้างประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และทักษะสำคัญต่างๆ ในเรื่องเล่าครั้งนี้ เราจะพาไปชมกิจกรรมไฮไลท์ที่จุดประกายความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ภาคเหนือ

Baseline จากการประเมินตัวเอง สู่การตั้งคำถามเพื่อค้นหาความหมาย

ผู้เข้าร่วมได้ประเมินความรู้ความเข้าใจของตนเองใน 8 หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่

  1. ความรู้ความเข้าใจความหมายของการเป็นนักคุ้มครองผู้บริโภค
  2. ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิผู้บริโภค 4 ประเด็นขับเคลื่อนของสภา
  3. ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการช่วยเหลือสนับสนุนผู้บรโภคในการรับการชดเชยเยียวยา
  4. ประสบการณ์ในการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
  5. ความรู้ ความเข้าใจกฎหมายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
  6. ความสามารถในการเชื่อมโยงเครือข่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค
  7. วิสัยทัศน์การทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคเหนือ
  8. พลังความมุ่งมั่น ความเชื่อ ความฝัน สำหรับอานาคตที่ดีกว่าของการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคเหนือ

โดยกิจกรรมนี้ไม่ได้มุ่งตัดสินว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง แต่เน้นการ “ปลุกการตระหนักรู้” ให้เห็นจุดยืนของตนเองในปัจจุบัน พร้อมทั้งมองหาแนวทางในการพัฒนาตนเอง โดยได้ผลสรุปจากผู้เข้าร่วมทั้ง 25 คน ดังนี้

  • ระดับความรู้เบื้องต้นยังน้อยในหลายหัวข้อ
    ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ (ร้อยละ 68–80) ประเมินตนเองต่ำกว่า 50 คะแนน ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความรู้พื้นฐาน เช่น ความหมายของการเป็นนักคุ้มครองผู้บริโภค, สิทธิผู้บริโภค 4 ประเด็นสำคัญ และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
  • ประสบการณ์ปฏิบัติงานยังไม่มาก
    ในหัวข้อ “ประสบการณ์ในการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค” ผู้เข้าร่วมถึงร้อยละ 68 ประเมินตนเองต่ำกว่า 50 คะแนน สะท้อนว่าจำเป็นต้องเสริมประสบการณ์ภาคปฏิบัติมากขึ้น
  • ทักษะการเชื่อมโยงเครือข่ายมีแนวโน้มดีขึ้น
    แม้กว่าครึ่ง (ร้อยละ 56) ยังอยู่ในระดับ 0–49 คะแนน แต่มีผู้ประเมินตัวเองที่ 100 คะแนนถึงร้อยละ 20 ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกว่ามีบางส่วนที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงได้แล้ว
  • วิสัยทัศน์ยังต้องการการพัฒนา
    ร้อยละ 76 ของผู้เข้าร่วมประเมินตนเองต่ำกว่า 50 คะแนนในหัวข้อวิสัยทัศน์การทำงาน สะท้อนถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการมองภาพอนาคตและการวางแผนเชิงกลยุทธ์
  • พลังและความมุ่งมั่นต่อการทำงานอยู่ในระดับสูง
    ในหัวข้อพลังความเชื่อและความฝัน พบว่าร้อยละ 72 ของผู้เข้าร่วมประเมินตนเองที่ 100 คะแนน ไม่มีใครประเมินต่ำกว่า 50 คะแนน แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมมีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นสูงในการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในอนาคต

แม้ผู้เข้าร่วมจะมีความรู้และประสบการณ์ที่ยังต้องพัฒนา แต่จุดแข็งคือ แรงจูงใจและพลังในการขับเคลื่อน ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดศักยภาพ ผ่านกระบวนการเสริมความรู้ ฝึกทักษะ และเพิ่มประสบการณ์อย่างเป็นระบบ

บันไดของการขับเคลื่อน แนวคิดหลักในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ 4 ประเด็น

  1. ความปลอดภัย สร้างความมั่นใจว่าอาหารที่เรากิน สินค้าที่เราใช้ ระบบบริการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ รถที่เราขับ ถนนที่ใช้สัญจรมีความปลอดภัยกับทุกคน
  2. คุณภาพชีวิต เป็นการสร้างความเป็นธรรมว่าทุกคนเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การสาธารณสุข การเข้าถึงการเงินที่จำเป็น และการมีบำนาญประชาชนขั้นขั้นพื้นฐาน
  3. สิทธิผู้บริโภคในโลกดิจิทัล เป็นความเท่าทันดิจิทัลและความปลอดภัยในโลกดิจิทัล
  4. การบริโภคมีความยั่งยืน ด้วยการทำให้การบริโภคที่ยั่งยืนเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้บริโภค

Star with Why ชวนระดมความคิดเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

  • เหตุผลส่วนตัวในการทำงาน
  • เป้าหมายที่อยากบรรลุ
  • วิธีการทำงานที่เชื่อว่าจะได้ผล
  • สิ่งที่อยากเห็นในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในอนาคต

กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ทบทวนและตระหนักถึงแรงจูงใจภายใน ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการทำงานอย่างมีพลัง และกิจกรรมองค์ประกอบสู่การเป็นนักขับเคลื่อนที่ประสบความสำเร็จ ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ผ่านแบบจำลอง “ภูเขาน้ำแข็ง” (Iceberg Model) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนักขับเคลื่อนต้นแบบอย่างนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ โดยนำมาใช้ถอดบทเรียนชีวิตและสร้างโมเดลนักคุ้มครองสิทธิในแบบที่ตนเองอยากเป็น

  • สิ่งที่กลุ่มอยากเห็น (ส่วนที่มองเห็นได้):
    เช่น การช่วยเหลือผู้บริโภค, เป็นที่พึ่ง, แหล่งข้อมูล, เพื่อน, ตัวแทนผู้บริโภค และผู้เชื่อมประสานเครือข่าย
  • สิ่งที่ต้องมี/ต้องทำ/ต้องเป็น (ส่วนที่อยู่ใต้น้ำ ต้องสร้างขึ้น):
    ประกอบด้วย ข้อมูลความรู้, อุดมการณ์, แหล่งทุน, นักสื่อสาร, เครือข่าย และทีมงานที่แข็งแกร่ง

กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจว่า ความสำเร็จในการเป็นนักคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไม่ได้เกิดจากภาพที่เห็นภายนอกเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการพัฒนาภายใน ทั้งทักษะ เจตคติ และโครงสร้างสนับสนุนที่แข็งแรงอีกด้วย พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากการเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงภายในตัวบุคคลและทีมงานอย่างต่อเนื่อง

วงล้อ KSL ประเมินทักษะของการคุ้มครองผู้บริโภค และออกแบบแผนรายจังหวัด

ผู้เข้าร่วมได้ทำการประเมินตนเองผ่าน “วงล้อ KSL” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยสะท้อนลักษณะชีวิต ความรู้ และทักษะ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในมิติต่างๆ โดยการประเมินนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นจุดแข็งของตนเอง พร้อมทั้งระบุจุดที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมสู่บทบาทนักขับเคลื่อนในพื้นที่ ปิดท้ายด้วยกิจกรรมออกแบบแผนการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ ให้ผู้เข้าร่วมกำหนดเป้าหมายและภาพฝันที่อยากเห็น ช่วยกันออกแบบ “แผนขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2568” รายจังหวัด โดยนำวงล้อ KSL มาวิเคราะห์และวางแผน ซึ่งได้แผนงานที่น่าสนใจ ดังนี้

  • จังหวัดเชียงราย
    เน้นการสร้างแกนนำระดับหมู่บ้าน จัดตั้งศูนย์ร้องทุกข์ในทุกตำบล ให้ความรู้ชาวบ้านเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค และรณรงค์สร้างการรับรู้ผ่านสื่อ เพื่อเสริมสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
  • จังหวัดน่าน
    มุ่งพัฒนาข้อมูลและข้อเสนอเชิงนโยบาย จัดตั้งองค์กรผู้บริโภคใหม่ พัฒนาช่องทางสื่อสาร และผลักดันการก่อตั้งสภาผู้บริโภคจังหวัด เพื่อเสริมบทบาทของผู้บริโภคในพื้นที่
  • จังหวัดลำปาง
    วางแผนสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง จัดทำแผนดำเนินงานจากความต้องการพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ให้องค์กรในจังหวัดรู้จักและสนับสนุนงานคุ้มครองสิทธิ
  • จังหวัดพิษณุโลก
    ตั้งเป้าให้ YPF ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรได้สำเร็จ สร้างแกนนำที่สามารถรับเรื่องร้องเรียนได้ และวางแผนทำงานร่วมกับองค์กรสมาชิกในจังหวัด
  • จังหวัดพะเยา
    ดำเนินโครงการ “สภาสัญจร 9 อำเภอ” สร้างเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่เชียงม่วน และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแกนนำในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
  • จังหวัดนครสวรรค์
    เร่งตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคเพิ่ม 2 ศูนย์ อบรมคณะทำงานและประชาชนในเรื่องกฎหมายผู้บริโภค เพื่อขยายฐานการรู้สิทธิในพื้นที่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
  • จังหวัดกำแพงเพชร
    เน้นการสร้างเครือข่ายผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน ผลักดันการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภค 4 ศูนย์ และสร้างการรับรู้ในระดับจังหวัดเพื่อรองรับการเป็นศูนย์ประจำจังหวัดอย่างเป็นทางการ

เวทีพัฒนาคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเจ้าหน้าที่คนรุ่นใหม่ในภาคเหนือครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการอบรมเชิงทฤษฎี แต่เป็นกระบวนการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้พร้อมก้าวสู่การเป็นนักขับเคลื่อนที่มีเป้าหมายชัดเจน คิดอย่างเป็นระบบ วางแผนการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ ผ่านการประเมินตนเอง ค้นหาแรงบันดาลใจ และออกแบบแผนขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคปี 2568 ที่ตอบโจทย์แต่ละจังหวัด ขณะเดียวกันรุ่นพี่ที่ทำงานคุ้มครองสิทธิในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องก็ยังคงเป็นกำลังสำคัญที่คอยสนับสนุน เติมเต็มประสบการณ์ และเป็นพี่เลี้ยง เพื่อขับเคลื่อนงานร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง

และนี่คือการสานต่อภารกิจจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเสริมพลังให้ผู้บริโภคอย่างแท้จริง ฝากติดตามบทบาทและภารกิจของนักขับเคลื่อนทุกเจเนอเรชันได้ในเรื่องเล่าจากพื้นที่ครั้งต่อไป