เพิ่มมาตรการตรวจเข้ม ก่อนเข้าห้างและสถานที่ต่าง ๆ เร่งรัฐ – เอกชนจัดอบรมรับมือเหตุการณ์วิกฤติ

สภาผู้บริโภคเรียกร้องห้างสรรพสินค้า – สถานที่แออัด เพิ่มมาตรการความปลอดภัยตรวจอาวุธเข้มงวด พร้อมเร่งหน่วยงานทั้งรัฐเอกชนอบรมพนักงานและเจ้าหน้าที่ ให้พร้อมรับกับสถานการณ์ฉุกเฉินวิกฤติ ชี้ กสทช.และรัฐบาลต้องเร่งทำระบบ SMS แจ้งเตือนเหตุด่วนเหตุร้ายไปที่โทรศัพท์ประชาชนให้ทันสถานการณ์ พร้อมย้ำแพลทฟอร์มต่าง ๆ ต้องกำกับดูแลเนื้อหาอย่างจริงจัง แก้ปัญหาการค้าอาวุธปืนในออนไลน์

จากเหตุการณ์กราดยิงในศูนย์การค้าย่านปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งประชาชนชาวไทยและต่างประเทศนั้น

วันนี้ (5 สิงหาคม 2566) สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร เทคโนโลยี และสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ระบุว่า สภาผู้บริโภคขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์กราดยิงในศูนย์การค้าฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา และขอเรียกร้องให้ห้างสรรพสินค้าและสถานที่ประชาชนแออัด เพิ่มมาตรการความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ โดยการตรวจอาวุธอย่างเข้มงวด และจัดทีมเฉพาะกิจเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์วิกฤติต่าง ๆ

อีกทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชนมีการให้ความรู้กับประชาชน รวมถึงการจัดอบรมให้กับพนักงาน เจ้าหน้าที่เพื่อดูแลความปลอดภัยของร่างกายและทรัพย์สินผู้บริโภคในเหตุการณ์ฉุกเฉินวิกฤติทุกระดับในการหลบภัยและอพยพ อย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ต้องมีมาตรการเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคเห็นว่าหากประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมต่าง ๆ ภาครัฐจะต้องรับผิดชอบในการชดเชยความเสียหาย เนื่องจากรัฐไม่สามารถคุ้มครองพลเมืองให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมได้

นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดทำระบบข้อความสั้นแจ้งเตือน (SMS แจ้งเตือน) หรือเซลล์บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) โดยจะเป็นระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือเพื่อแจ้งเตือนเหตุด่วนเหตุร้ายได้ทันสถานการณ์ในพื้นที่ประสบเหตุการณ์วิกฤติ หรือการเตือนภัยทางธรรมชาติ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์อย่างเช่นการก่อจลาจลหรือการกราดยิง

อย่างไรก็ตาม สุภิญญา ระบุอีกว่า ความร่วมมือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกำกับดูแลเนื้อหาที่ผลิตซ้ำความรุนแรงอย่างจริงจังได้ รวมทั้งจะช่วยป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไม่เหมาะสม นอกจากนี้แพลทฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ควรแก้ไขปัญหาและป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และเครือข่ายสังคมออนไลน์

ขณะที่ในประเด็นการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว สุภิญญา เสนอว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนควรระมัดระวังในการนำเสนอข่าวที่ไม่ละเมิดต่อกฎหมายและขัดกับจริยธรรมแห่งวิชาชีพ รวมทั้งผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎกติกากลางมาตรฐานชุมชน หรือ Community Standards ของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่เคารพต่อกฎหมายและสิทธิเสรีภาพร่วมด้วย

เนื่องจากที่ผ่านมาสื่อมวลชนและผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากได้เผยแพร่ภาพจากผู้ประสบเหตุและผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ ซึ่งละเมิดต่อการกระทำผิดกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยมีการแสดงความคิดเห็น เผยแพร่อัตลักษณ์ และข้อมูลส่วนบุคคลของเยาวชนผู้ก่อเหตุ ที่อาจละเมิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก Convention on the Rights of the Child (CRC) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2564 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน รวมถึงสื่อมวลชนยังไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับจริยธรรมของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ที่สื่อมวลชนต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ตกเป็นข่าว

ดังนั้นสื่อมวลชนควรจะต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อเด็ก เยาวชน กลุ่มเปราะบาง และผู้มีความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ในสังคม รวมทั้งต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่บุคคลและครอบครัวของผู้ตกเป็นข่าว

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค