รวมพลังเป็นหนึ่ง สู้ภัยออนไลน์

ภาคประชาชนร่วมเสนอแนวทางแก้ไขภัยกลโกงออนไลน์ ชี้การแก้ไขปัญหาไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน

สมาชิกองค์กรผู้บริโภคกว่า 300 องค์กรทั่วประเทศได้ร่วมกันเรียกร้องให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนร่วมมือร่วมใจกันเฝ้าระวัง เตือนภัย ให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือ ต่อเหยื่ออาชญกรรมแก๊งค์คอลเซนเตอร์ที่ทำการหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม อย่างมหาศาล โดยเน้นว่า “การรับรู้ของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนภัย ให้ข้อมูลความรู้ รวมถึงภาครัฐต้องมีความเข้มงวดด้านกฎหมายและใส่ใจกับปัญหาผู้บริโภคกว่านี้ ขณะที่ผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญกับการรับรู้ข้อมูล เพื่อลดโอกาสการตกเป็นเหยื่อ” ทั้งนี้ เป็นการสรุปความเห็นในเวทีระดมพลังผู้บริโภคประเด็น “ภัยกลโกงออนไลน์” ในการจัดงานวันผู้บริโภคสากล ปี 2567 ที่สภาผู้บริโภคจัดขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม 2567

ในการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้มีพลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เข้ามาร่วมในฐานะวิทยากรให้ข้อมูลแก่องค์กรสมาชิกที่เข้าร่วม โดยเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของมิจฉาชีพเป็นการหลอกให้คนเข้าไปกดเอทีเอ็มเพื่อโอนเงินเข้าบัญชีมิจฉาชีพ ซึ่งต่อมาเมื่อประชาชนจำนวนมากติดตั้งโมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) ลงในโทรศัพท์มือถือ ทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้ามาดูดเงินโดยตรงจากบัญชีเหยื่อ เข้าบัญชีมิจฉาชีพ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง

พลอากาศตรีอมร เสริมว่าข้อมูลจาก Digital 2021 Report พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำธุรกรรมออนไลน์หรือโมบายแบงก์กิ้งมากที่สุดในโลก และผลสำรวจจากเว็บไซต์ We Are Social ประจำต้นปี 2022 พบว่า คนไทยใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์มากถึง 9.06 ชั่วโมงต่อวัน และรูปแบบการหลอกลวงที่หลากหลายล้วนมาในรูปแบบออนไลน์ เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจึงต้องมีข้อมูลที่รู้เท่าทันมิจฉาชีพ โดยได้ให้ข้อมูลรูปแบบกลโกงออนไลน์ในปัจจุบันพร้อมข้อแนะนำ ดังนี้

1. ปัญหาซื้อของออนไลน์เป็นปัญหาที่พบมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นกรณีซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า ได้รับสินค้าไม่ตรงปกได้ และขอแนะนำผู้บริโภคก่อนซื้อสินค้าให้ตรวจสอบร้านค้า ดูรีวิว และควรซื้อของจากแพลตฟอร์มที่มีตัวกลางในการจ่ายเงินหลีกเลี่ยงโอนเงินให้ผู้ขายโดยตรง

2. หลอกทำงานออนไลน์ ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบการทำงานที่บ้านได้หรือรูปแบบดูคลิปวิดีโอทางออนไลน์ ให้กดไลก์สินค้าและรับเงิน โดยทุกกรณีของการหลอกให้ทำงานออนไลน์ จะมีการอ้างว่าได้ค่าตอบแทนสูง แต่ต้องโอนเงินก่อน

3. แอปพลิเคชันเงินกู้ แม้ว่าบุคคลทั่วไปสามารถปล่อยเงินกู้ได้ แต่จะต้องมีอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ส่วนผู้บริโภคหากถูกเก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดสามารถแจ้งความได้ทันทีเพราะถือว่าถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิของตนเองจึงอาจตกเป็นเหยื่อของเงินกู้ผิดกฎหมาย ดังนั้น เพื่อป้องกันป้องหาผู้บริโภคจึงควรกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ที่ถูกกฎหมาย

4. หลอกลงทุน มักใช้รูปแบบแอบอ้างบุคคลมีชื่อเสียงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อจะใช้กลลวงว่าจะได้รับกำไรจำนวนมากในเวลาไม่นาน หากผู้บริโภคสนใจลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อน ตรวจสอบบริษัทก่อนลง และไม่ควรโอนเงินลงทุนผ่านบัญชีส่วนบุคคล  และ 5. โรแมนซ์สแกม (Romance Scams) หรือหลอกให้รัก มิจฉาชีพจะใช้รูปบุคคลหน้าตาดีหลอกให้หลงรักเชื่อใจ และใช้ความรักความเชื่อใจหรือความหวังของเหยื่อเพื่อแสวงหาประโยชน์ โดยหลอกให้โอนเงินหรือทรัพย์สิน ผู้บริโภคควรระวังตัวไม่หลงเชื่อคนแปลกหน้าในโซเชียลมีเดีย

“อยากเห็นภาพสื่อตื่นตัวในการช่วยเตือนภัยต่าง ๆ เหมือนช่วงเกิดโควิดที่ทุกหน่วยงานเตือนภัยแนะนำประชาชนถึงวิธีป้องกันตัวจากโควิด เพื่อให้ทุกคนตื่นตัวและระวังตัวตลอดเวลา หากทุกหน่วยงานช่วยเตือนภัยอย่างทั่วถึง จะช่วยป้องกันภัยออนไลน์ได้” พลอากาศตรีอมรย้ำ

สำหรับองค์กรสมาชิก ได้มีการเน้นการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมความเข้มแข็ง ให้เกิดการขับเคลื่อนเตือนภัยผู้บริโภคร่วมกันทั้งภาค ไม่ใช่เพียงเฉพาะจังหวัดของตน สร้างระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำปัญหามาสู่การปรึกษาหารือร่วมกันและมีข้อสรุป พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขเชิงนโยบาย ทั้งนี้จะเป็นการนำไปสู่การเตือนภัยในระดับพื้นที่เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ห่างไกล

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค