หยุด! ลงโทษรุนแรงในห้องเรียน ย้ำครูสร้างวินัยเชิงบวก

Getting your Trinity Audio player ready...
หยุด! ลงโทษรุนแรงในห้องเรียน ย้ำครูสร้างวินัยเชิงบวก

การลงโทษทางกายยังถูกใช้ในห้องเรียน ประธานอนุกรรมการด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค แนะเร่งพัฒนาครู ให้ความรู้จัดการพฤติกรรมเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง พร้อมมาตรการลงโทษครูละเมิดสิทธิเด็กอย่างชัดเจน

แม้จะมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง แต่ดูเหมือนว่ามาตรการนี้ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด อย่างกรณีล่าสุด พบข่าวครูลงโทษนักเรียนด้วยการตีถึง 60 ครั้ง เพราะเด็กไม่ยอมนั่งตามคำสั่ง จนเกิดรอยช้ำเขียวม่วง กลายเป็น กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคมว่า เป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ 

วันที่ 7 กรกฎาคม 2568 อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานอนุกรรมการด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า การลงโทษโดยใช้ความรุนแรงด้วยการตีนั้น เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในวงการศึกษาไทย แม้ว่าจะมีการออกมาตรการว่าให้ครูต้องฝึกวินัยเชิงบวก โดยหลีกเลี่ยงการลงโทษที่จะมีผลต่อร่างกายเด็กก็ตาม เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าครูอาจขาดทักษะการตัดสินในมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับพฤติกรรมผู้เรียนในเชิงบวก 

ปัจจุบัน มาตรการที่ห้ามใช้ความรุนแรงในโรงเรียนยังไร้ประสิทธิภาพ เพราะไม่มีระบบสนับสนุนที่เพียงพอ ทั้งด้านการอบรมครู หรือบทลงโทษที่เข้มงวด ถึงจะมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่คุณครูจำนวนมากยังขาดความรู้เกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับพฤติกรรมผู้เรียน ทำให้เลือกใช้วิธีการลงโทษแบบเดิมที่กระทำมาในอดีต

การลงโทษเด็กจนเกิดความเสียหายทางร่างกายที่เกิดขึ้น แม้จะมีประกาศห้ามชัดเจน ถือว่าเป็นโจทย์ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องขับเคลื่อน โดยให้ครูถูกพิจารณาโทษตามความเหมาะสม 

อรรถพลย้ำว่า ในโลกการศึกษายุคใหม่ การปรับพฤติกรรมไม่จำเป็นต้องทำด้วยการลงโทษ แต่ควรมีวิธีการที่เหมาะสมที่ไม่กระทบต่อสุขภาพเด็ก ด้านกระทรวงศึกษาธิการควรเร่งพัฒนาครู โดยส่งเสริมให้ครูได้รับการฝึกอบรมในเรื่องการจัดการพฤติกรรมเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง

อีกทั้ง มุ่งพัฒนาวิธีการที่ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีในเชิงบวก และควรมีบุคลากรที่สามารถดูแลสุขภาพจิตทั้งเด็กและครูจะช่วยให้สามารถจัดการกับความเครียดและปัญหาต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

คณะอนุกรรมการด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค จึงผลักดันประเด็นความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง  โดยเสนอข้อคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ในประเด็นความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยขอให้ระบุให้ชัดเจนว่าสถานศึกษาทุกแห่งต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจของผู้เรียน โดยมีระบบดูแลสวัสดิภาพ ความปลอดภัยและคุ้มครองสิทธิของผู้เรียนของสถานการศึกษานั้น ๆ

รวมถึง ขอให้มีระบบในการผลิตและพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครูทุกคนมีสมรรถนะด้านพัฒนาการเด็กอย่างรอบด้าน รวมทั้งด้านจิตวิทยาการเรียนรู้และด้านพัฒนาสมองเด็ก ขอให้รัฐจัดให้มีนักจิตวิทยา พัฒนาการเด็กหรือผู้ให้คำปรึกษาในระดับพื้นที่เพื่อสนับสนุนการทำงานของครูในการดูแลและพัฒนาผู้เรียน

ทั้งนี้ อรรถพล กล่าวทิ้งท้ายว่า “การลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับโลกยุคปัจจุบัน เพราะฉะนั้นสังคมต้องช่วยส่งเสียงว่าค่านิยมแบบนี้ควรถูกถอดรื้อ และหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลควรใช้มาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจนหากมีการลงโทษนักเรียนที่เกินกว่าเหตุ และเข้มงวดต่อการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบและความปลอดภัยสำหรับนักเรียน”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง