ข้อเสนอต่อการทำความตกลงเข้าร่วม CPTPP ของรัฐบาล

สถานการณ์

CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

รัฐบาลไทยมีนโยบายจะที่เข้าร่วม CPTPP มาตั้งแต่ปี 2563 โดยอ้างถึงผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดจ้างให้ดำเนินการ สรุปได้ว่าการเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัว 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาทนั้น อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษา CPTPP สภาผู้แทนราษฎรตั้งข้อสังเกตว่า ผลการศึกษาดังกล่าว ยังมิได้คำนึงถึงบริบททางสังคมและบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่มิใช่รัฐ (Non-state actor) 

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อกังวลอีกหลายประเด็น อาทิ ข้อกังวลในผลกระทบด้านลบต่องบประมาณ หรือค่าใช้จ่ายของประเทศ จากข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ระบุว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพิงยานำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสรุปดังนี้ 

1) ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท 

2) สัดส่วนการพึ่งพิงนำเข้ายาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 71 เพิ่มเป็นร้อยละ 89 

3) มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 100,000 ล้านบาท 

การพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก จะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 


การดำเนินงาน

1. ส่งข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ตามหนังสือเลขที่ สอบ.025/2564 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564 พร้อมจัดแถลงข่าว 

2. จัดเวทีเสวนาทำความเข้าใจกับเครือข่ายผู้บริโภคและเกษตรกร ในประเด็นผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564

3. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ นัดหมายยื่นจดหมายต่อผู้ว่าราชการจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชะลอการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 พร้อมทำข่าวประชาสัมพันธ์

4. จัดเวทีเสวนา “ผลกระทบ CPTPP กับผู้บริโภคต่อการกำกับดูแลอาหาร GMOs และการปฏิเสธการนำเข้าสารเคมีอันตรายในประเทศ” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564

5. สภาผู้บริโภคทำหนังสือติดตามข้อเสนอ ทั้งหมด 3 ฉบับ

6. จัดเวทีร่วมกับเครือข่าย FTA Watch และเครือข่าย NOCPTPP เพื่อให้ความรู้และแถลงคัดค้านการเข้าร่วมภาคีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ณ สวนชีววิถี-สวนผักคนเมือง จ.นนทบุรี วันที่ 2 ธันวาคม 2564 

7. ทำหนังสือที่สอบ.นย. 396/2564 วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่รับเข้าเป็นวาระในการประชุม ครม.

8.  สื่อสารต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP  


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

จากข้อกังวลที่ยังมีอยู่อีกหลายประเด็น สภาผู้บริโภคเห็นว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) กนศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเข้าร่วมทำความตกลง CPTPP ควรตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ หากเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ควรผ่านการพิจารณาด้วยความรอบคอบ และมองถึงประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงดำเนินการจัดทำข้อเสนอต่อ ครม.


ความคืบหน้า

ปี 2564 ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการนำเรื่องการเข้าร่วม CPTPP สู่การพิจารณาของ ครม.