ข้อเสนอต่อปัญหาสารไกลโคแอลคาลอยด์ (glycoalkaloids) สูงกว่าปกติในมันฝรั่งทอดกรอบ

สถานการณ์ 

จากกรณีเฟซบุ๊ก “ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น” โพสต์แจ้งข่าวว่าบริษัท Frito-Lay ญี่ปุ่น เรียกคืนขนมมันฝรั่งทอดกรอบแบบแผ่น ยี่ห้อ เลย์ ออริจินัล ที่นำเข้าจากไทย หลังตรวจพบสารไกลโคแอลคาลอย์ ในปริมาณสูงกว่าปกติ และให้ผู้บริโภคสามารถส่งสินค้ากลับเพื่อขอเงินคืนได้นั้น

สารไกลโคแอลคาลอยด์ (glycoalkaloids) เป็นกลุ่มของสารพิษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยในหัวมันฝรั่งจะพบสารกลุ่มไกลโคแอลคาลอยด์ ชนิดโซลานีนและชาโคนีนในบริเวณเปลือกผิว ตา บริเวณที่มีต้นอ่อนงอก บริเวณที่มีรอยช้ำ หรือเป็นรอยแผล และส่วนที่มีสีเขียวมากกว่าส่วนเนื้อผลมันฝรั่ง

โดยทั่วไปพบประมาณ 10 – 150 มิลลิกรัมของน้ำหนักผลสด การได้รับสารไกลโคแอลคาลอยด์ในระดับสูง หรือมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักผลสด จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง กรณีที่รุนแรง จะมีผลกระทบทางระบบประสาท การปรุงอาหารด้วยความร้อน เช่น การอบ ต้ม ทอด ไม่สามารถลดปริมาณสารดังกล่าวได้ การที่จะลดได้ คือ การปอกเปลือกลึกเข้าไปในเนื้อผลให้มาก ควบคู่กับการเก็บรักษาผลมันฝรั่งสดที่ดีด้วย


ข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 

1. ขอให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลดังกล่าว ตลอดจนตรวจสอบว่ามีสินค้าดังกล่าวจำหน่ายในประเทศหรือไม่ หากพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา จะต้องเปิดเผยยี่ห้อรวมถึงล็อตการผลิตของสินค้า ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นให้ประชาชนรับรู้ โดยไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภคในการตรวจสอบและค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตนเอง และต้องออกประกาศให้บริษัทเรียกคืนสินค้าและคืนเงินให้ผู้บริโภคด้วย 

2. ขอให้มีมาตรการและดำเนินการตรวจสอบสารไกลโคแอลคาลอยด์ในมันฝรั่ง ทั้งยี่ห้อที่มีปัญหา รวมถึงล็อตที่เรียกคืนและล็อตการผลิตอื่น และรวมถึงให้ตรวจสอบมันฝรั่งทอดกรอบยี่ห้ออื่น ๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดในประเทศด้วย

3. ขอให้ทบทวนปริมาณสารไกลโคแอลคาลอยด์ในมันฝรั่ง และออกประกาศเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการควบคุมสารไกลโคแอลคาลอยด์ในมันฝรั่งที่ผลิตในประเทศ เพื่อความปลอดภัยในอาหาร และคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค


ความคืบหน้า

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ผู้ผลิตแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดดังกล่าว ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อย. สุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบที่จำหน่ายในประเทศส่งตรวจวิเคราะห์ พร้อมทั้งประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบสถานที่ผลิตต่อไป

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ติดตามผลการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างการตอบกลับจากหน่วยงาน ภายใน 30 วัน