ข้อเสนอต่อการนำเข้าสับปะรดสีชมพู สับปะรด GMOs ต้องห้าม

สถานการณ์

จากการเฝ้าระวังในสื่อสังคมออนไลน์ของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook อาทิเพจ KCH Freshfruit, Veryfruits ผลไม้เดลิเวอรี่, FRESH Fruiteries, Durian_Mai_Ja, Freshfruit By Gift, Feel’in Fruit ผลไม้นำเข้าพรีเมียม และสวนวิชาพันธุ์ไม้ Wicha Komonkitkaset พบการเผยแพร่โฆษณาจำหน่ายสับปะรดที่มีเนื้อสีชมพู โดยมีชื่อการค้าว่า “Pinkglow” เป็นผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศคอสตาริกา

สภาผู้บริโภคตรวจสอบรายละเอียดเบื้องต้นพบว่า Pinkglow® pineapple เป็นชื่อการค้าของบริษัท DEL MONTE โดยพัฒนาพันธุ์สับปะรดให้มีเนื้อสีชมพู ด้วยกระบวนการดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) 

หากพิจารณาให้ดีจะทราบว่า อาหารที่เกิดจากการดัดแปรพันธุกรรม ต้องมีการประเมินผลที่ชี้เฉพาะเกี่ยวกับภูมิแพ้ การถ่ายโอนยีน หรือยีนแลกเปลี่ยนกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การบริโภคอาหารที่เกิดจากการดัดแปรพันธุกรรม อาจจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพได้ และยังเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมาด้วยเช่นกัน อีกทั้งการนำเข้าพืชดัดแปรพันธุกรรม ผู้นำเข้าจะต้องดำเนินการขออนุญาตนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการค้า โดยต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงของศัตรูพืช ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กักพืช พ.ศ.2507 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม


การดำเนินงาน

1. เฝ้าระวังการขายและการรีวิวสับปะรดสีชมพู รวบรวมข้อมูลและทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อย. เพื่อสอบถามเรื่องการควบคุมการปลูกและจำหน่ายสับปะรดสีชมพู (สับปะรดดัดแปรพันธุกรรม) ในประเทศไทย เนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อมูลและจำหน่ายทางสื่อสังคมออนไลน์ 

2. ทำหนังสือติดตามขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อย. หารือเพื่อหาข้อสรุปว่า หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการปัญหา 

3. ทำหนังสือติดตามเพื่อขอเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการไปยังกรมวิชาการเกษตร เพื่อดำเนินการจัดการปัญหา


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

สภาผู้บริโภคจัดทำข้อเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดังนี้ 

1. หารือไปยังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการควบคุมการนำเข้าสับปะรดดัดแปรพันธุกรรม และ/หรือตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561

2. หารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการควบคุมการนำเข้าสับปะรดดัดแปรพันธุกรรม และ/หรือที่จำหน่ายในประเทศไทย 

3. เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจค้น ยึด อายัด ทำลาย และสั่งไม่ให้นำเข้าพืชต้องห้าม อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 และมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.กักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.กักพืช (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 

4. ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้ดำเนินการใช้อำนาจตามกฎหมาย สั่งห้ามการโฆษณาจำหน่าย และการรีวิวสับปะรดสีชมพูออกจากสื่อออนไลน์ทุกช่องทาง 


ความคืบหน้า 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อย.มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการ ดังนี้ 

1. ประสานกรมศุลกากรเพื่อให้เข้มงวดในการตรวจสอบเฝ้าระวังการนำเข้าสับปะรดสีชมพูร่วมกับด่านตรวจพืช และด่านอาหารและยา ทั้งผู้โดยสารขาเข้าและคลังสินค้า ซึ่งผู้นำเข้าต้องดำเนินการขออนุญาตนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อการค้า โดยต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงของศัตรูพืช ตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้นำโฆษณาจำหน่ายสับปะรดสีชมพูออกจากสื่อออนไลน์ เนื่องจากเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม