ข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบ Post-Market : กรณีความไม่ปลอดภัยของไส้กรอกผสมสารกันเสีย 

สถานการณ์

จากกรณีที่เป็นข่าวในช่วงต้นปี 2565 โดยเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Ramathibodi Poison Center’ ให้ข้อมูลเตือนภัยผู้บริโภค ระบุว่ามีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบินนีเมีย (Methemoglobinemia) จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี ตรัง และกาญจนบุรี ซึ่งเด็กทั้งหมดมีประวัติรับประทานไส้กรอกไม่มียี่ห้อและไม่มีเอกสารกำกับ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ ถูกเผยแพร่ต่อในช่องทางสื่อต่าง ๆ มากมาย ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ตลอดจนระบบการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหลังออกสู่ท้องตลาด (Post-Marketing)

ทั้งนี้ ภาวะเมธฮีโมโกลบินในเลือดหรือ ‘เมธฮีโมโกลบินนีเมีย’ (Methemoglobinemia) เป็นภาวะที่ ‘ฮีโมโกลบิน’ ในเม็ดเลือดแดงทำปฏิกิริยากับสารเคมีกลายเป็น ‘เมธฮีโมโกลบิน’

ซึ่งในภาวะปกติฮีโมโกลบินจะทำหน้าที่จับกับออกซิเจน เมื่อกลายเป็นเมธฮีโมโกลบินจะไม่สามารถจับกับออกซิเจนได้ ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน และสีเม็ดเลือดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ

สารเคมีที่ทำให้เกิดภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมียในกรณีนี้  คาดว่าได้แก่ อาหารที่มีปริมาณดินประสิว (Potassium nitrate) เกินขนาด ซึ่งสารไนไตรท์-ไนเตรทเป็นสารเคมีที่นิยมใช้เป็นสารกันเสีย และทำให้เกิดสีในเนื้อสัตว์เป็นสีแดงอมชมพูในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป หากได้รับในปริมาณที่สูงเกินจะเกิดผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก 


การดำเนินงาน

1. ทำหนังสือส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องข้อเสนอการพัฒนาระบบการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหลังออกสู่ท้องตลาด (Post-Marketing) : บทเรียนกรณีปัญหาไส้กรอกอันตราย 

2. แถลงข่าวเพื่อให้ อย. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

1. เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีระบบประสานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย

และอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น กับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ตลอดจนภาคประชาชน เพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังและระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์มากขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ซ้ำอีก โดยมีข้อเสนอดำเนินการ ดังนี้         

1.1 เชื่อมโยงข้อมูลการเฝ้าระวังส่วนกลางและภูมิภาค ข้อมูลผู้ป่วยในชุมชน และข้อมูลสถานพยาบาล เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์อันตรายเข้ารักษาตัวทุกระบบเข้าด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็วในการคุ้มครองผู้บริโภค 

1.2 นำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้เกิดระบบการเฝ้าระวังและตรวจจับอัตโนมัติ (Auto Detection) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเตือนภัยผู้บริโภคได้อย่างทันเหตุการณ์ หากเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย 

1.3 สนับสนุนให้ผู้บริโภคและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง โดยใช้เทคโนโลยีที่ง่ายไม่ซับซ้อน และสามารถส่งต่อข้อมูลระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

1.4 ประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมในการเฝ้าระวังการประกอบการของผู้ผลิตในพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหาร 

1.5 จัดทำระบบข้อมูลที่ประชาชนสามารถสืบค้นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย ที่สะดวกในการเข้าถึง รวมทั้ง รายชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีจำหน่าย 

1.6 จัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ระบบที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการซื้อสินค้าเพื่อการบริโภคว่า สินค้าที่ซื้อไม่มีสิ่งปนเปื้อนและมีความปลอดภัย โดยสามารถตรวจสอบเส้นทางของอาหารนั้น ๆ ได้

2. มีระบบการจัดการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการที่มีประสิทธิผล และหวังผลที่จะหยุดการกระทำของผู้ประกอบการที่ก่ออันตรายต่อผู้บริโภค

ตั้งแต่การส่งต่อข้อมูลจากสถานพยาบาลไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่พบผู้ป่วยจากการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหาร และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเหล่านั้นต้องติดตามเพื่อตรวจสอบต่อว่า โรงงานผลิตนั้นขออนุญาตถูกต้องหรือไม่

และผลิตภัณฑ์นั้นผลิตตรงตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบการแสดงฉลากว่าถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ หากพบว่าผิดกฎหมาย จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ผลิตอย่างเด็ดขาด ไม่ควรทำเพียงแค่การตักเตือน เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหารอันตรายเข้าไป 

3. สร้างความเข้มแข็งผู้บริโภค (Smart Consumers) โดยให้มีการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค ดังนี้

3.1 ไม่ซื้อ ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่แสดงฉลาก

3.2 แจ้งเตือนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องต่อครอบครัว ชุมชน และผู้บริโภคอื่น ๆ ได้

3.3 แจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

4. ต้องทำให้มีระบบการติดตามการกระจายสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารออกสู่ตลาด (Tracking) และมีระบบการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ (Recall) ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

ระบบที่สามารถติดตามได้ว่าอาหารที่เป็นอันตรายอยู่ ณ ที่ใด เช่น ผู้ผลิตอาหารหรือหน่วยงานพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารรุ่นผลิตใดมีปัญหา แต่สินค้าได้กระจายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นต้องเรียกคืนสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบล็อตที่มีปัญหาคืนมาทั้งหมด ผู้ผลิตต้องติดตามเส้นทางการผลิตและการจัดจำหน่าย เพื่อจะได้ทราบว่าสินค้าที่มีปัญหาวางจำหน่ายอยู่ที่ใดบ้าง และสามารถเรียกคืนสินค้าได้อย่างถูกต้อง การเรียกคืนอาหารมีไว้เพื่อนำอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากการขาย 


ความคืบหน้า

อยู่ระหว่างการตอบกลับจากหน่วยงาน ภายใน 30 วัน