ข้อเสนอต่อ กสทช. ในการออกหลักเกณฑ์เรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่

สถานการณ์

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ และจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนั้น โดยที่มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตจะเรียก เก็บเงินประกัน หรือเงินอื่นที่มีลักษณะเป็นเงินประกันมิได้ ส่วนการเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือประโยชน์สาธารณะ และวรรค 2 กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ของผู้รับใบอนุญาต ให้ถือว่าเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จึงเห็นว่า หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าที่ กสทช. กำหนดจำเป็นต้องเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว นั่นคือเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาร่างประกาศ กสทช. ฉบับดังกล่าว กลับพบว่า เนื้อหาของร่างประกาศฯ เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าได้เท่านั้น แต่ไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภคหรือคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะใด ๆ


การดำเนินงาน

สภาผู้บริโภคมีหนังสือที่ สอบ.นย 042/2564 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

นอกจากนั้น สภาผู้บริโภคจัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นผู้บริโภคออนไลน์ เรื่อง “ถูกเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่” (การถูกเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้านล่วงหน้า) โดยมีจำนวนผู้ตอบ 521 คน


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

สภาผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศ กสทช. ฉบับดังกล่าว และขอให้ยุติการดำเนินการออกประกาศด้วยเหตุผลสำคัญ อาทิ

  • ร่างประกาศฉบับนี้มีเนื้อหากระทบต่อประชาชนและผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ แต่ กสทช. กลับไม่ประเมินผลกระทบจากการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment – RIA) รวมถึงไม่ได้ศึกษาความต้องการและผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือสังคม ว่าต้องการให้เรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าหรือไม่
  • การกำหนดนิยาม “การเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า” สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่า การที่ กสทช. อนุญาตให้คิดค่าบริการล่วงหน้า จะทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์มากกว่าได้ประโยชน์ เพราะผู้บริโภคมีภาระต้องชำระค่าบริการก่อนใช้บริการ โดยไม่ทราบว่าบริการที่จะได้รับเป็นไปตามสัญญาและคำโฆษณาหรือไม่ และหากไม่ได้รับบริการอย่างครบถ้วน ผู้บริโภคก็มีภาระต้องเรียกร้องส่วนที่ไม่ได้รับบริการคืน
  • การอนุญาตให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่เรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าได้ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขาย หรือเงื่อนไขการให้บริการต่าง ๆ จะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากชำระค่าบริการล่วงหน้าไปแล้ว
  • การอนุญาตให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าได้สูงสุดถึง 12 เดือน ซึ่ง สภาผู้บริโภคเห็นว่าเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
  • สภาผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นใดได้ โดยที่ไม่มีการวางกรอบนิยามที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นการเปิดช่องให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และการเรียกเก็บดังกล่าวทำให้ผู้ใช้บริการถูกผูกมัดกับข้อสัญญาโดยไม่สมัครใจ ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
  • สภาผู้บริโภคไม่เห็นด้วยที่ กสทช. ให้ความเห็นชอบเป็นการชั่วคราวให้เรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ล่วงหน้าก่อนที่จะมีประกาศฯ เพราะไม่ได้ศึกษาผลดี ผลเสียที่จะเกิดกับผู้บริโภคอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาของร่างประกาศฯ สภาผู้บริโภคเห็นว่ามีเนื้อหาที่ขัดกับมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 อย่างชัดเจน ดังนั้น การที่ กสทช. ให้ความเห็นชอบเป็นการชั่วคราว จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับมาตรา 58 เช่นเดียวกัน จึงสมควรที่ กสทช. จะยกเลิกมติ กสทช. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ผู้ให้บริการรายหนึ่งเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ล่วงหน้าไปแล้ว