พัฒนาคน พัฒนาเครือข่าย พัฒนาความร่วมมือแบบใจถึงใจ


ศิลปินพื้นบ้านส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคร้อยเอ็ด : พัฒนาคน พัฒนาเครือข่าย พัฒนาความร่วมมือแบบใจถึงใจ “หน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด”

“สิทธิเราควรใส่ใจ .. สิทธิเราควรใส่ใจ เรื่องกินเรื่องใช้ซื้อสิ่งซื้อของ สิทธิเราอย่าให้ใครจับจอง .. สิทธิเราอย่าให้ใครจับจอง ช่วยกันปกป้องสิทธิของเรา อย่าได้หูเบาให้เขาหลอกเอาหนา อาหารสินค้ามากมายๆ เครื่องกินเครื่องใช้นมเนยหรือยา อย. เราควรตรวจตา .. อย. เราควรตรวจตา สำคัญหนักหนาดูฉลากหรือป้าย เพื่อความปลอดภัยให้มั่นใจก่อนหนา โฆษณาชวนเชื่อ มีหลายเอาเหลือ ทีวีส่งข่าว วิทยุ ทีวีแห่งเว้า แลงเช้าอยู่สูวัน ทางออนไลน์ว่านั้น ขายกันน้อล่ะแม่นดาษดื่น .. ขายกันเด้อล่ะแม่นดาษดื่น ทั้งเฟสทางไลน์ขายกันวื้นๆ แม่ค้าออนไลน์ขายกันวื้นๆ ดีแท้คักอีหลี

คิดดูดีๆ ก่อนที่จะซื้อจะใช้ คำโฆษณามากมาย อาจเกิดพิษภัยถึงท่าน ยอดเยี่ยม ดีจริง ศักดิ์สิทธิ์ วิเศษ มหัศจรรย์ ดำเลิศ สุดยิด เลิศล้ำ ล้วนแล้วแต่คำโอ้อวดเกินจริง ผู้ประกอบการคอยแต่จะค้าจะขาย สั่งซื้อแม่ค้าออนไลน์ ทีวีมากมายขายแข่ง ด้านกระจายเสียง วิทยุ ก็มาแรง ดีเด่น ได้ฟังก็ยื้อแย่ง โดนหลอกแอบแฝงระวังให้ดี

อย่าสุเฉยเด้อป้า ฟังโฆษณาคิดให้ถ้วนถี่ .. โฆษณาคิดให้ถ้วนถี่ อ่านฉลากเบิ่งป้ายให้ดี วันเดือนปีมีบอกอยู่บ้อ มี อย. รับรองอยู่บ้อ น้อป้าอย่าสุเฉย อย่าเฉยเมยร่วมกันปกป้อง อย่าเฉยเมยร่วมกันปกป้อง ทุกคนคุ้มครองสิทธิเฮาเด้อ ผู้บริโภคเฮาอย่าเผลอ … ระวังไว้ (กลอนลำเต้ยสิทธิผู้บริโภค ศิลปิน : ไพบูลย์ เสียงทอง สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด)

เรื่องเล่าจากพื้นที่ร้อยเอ็ดครั้งนี้ เกริ่นด้วยกลอนลำเต้ยสิทธิผู้บริโภคที่มีเนื้อหารณรงค์ให้ผู้บริโภค รู้เท่าทันสื่อ กลโกงออนไลน์ และสินค้าออนไลน์ การโฆษณาเกินจริง โดย ศิลปินไพบูลย์ เสียงทอง หรือ นายไพบูลย์ ผิวไธสง เจ้าหน้าที่คุ้มครองสิทธิและสนับสนุนงานผู้บริโภค ประจำหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน ด้วยความเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้เอง ทำให้สิทธิผู้บริโภค และงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นที่รับรู้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัด และขยายการรับรู้ไปทั่วภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านสื่อกลอนลำ และการแสดงหมอลำพื้นบ้าน โดยชมรมศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินจิตอาสา คณะทำงานสมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ก และหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เรียกได้ว่าเป็นศิลปะในการบูรณาการงานสื่อสารสร้างการรับรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคเข้ากับสื่อพื้นบ้านและสื่อใหม่ได้เป็นอย่างดี สร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้รับชมรับฟัง ไม่รู้สึกว่าสิทธิผู้บริโภคเป็นเรื่องไกลตัว ด้วยการสร้างสรรค์เนื้อหา บรรยายเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค งานคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยทำนองกลอนลำอันไพเราะ ผ่านศิลปินที่มีความเชี่ยวชาญในการเอื้อนเสียง เล่าเรื่องราวออกมาเป็นกลอนลำ กลอนสั้นๆ กระชับ โดยเนื้อหามักเป็นการบอกเล่างานคุ้มครองผู้บริโภค และภารกิจของหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

คุณอาภรณ์ อาทะโส (พี่แมว) หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด และก่อนที่จะรู้จักคำว่า “คุ้มครองผู้บริโภค” ตนเองเป็น NGO ทำงานอยู่กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนชายขอบในพื้นที่ตำบลทุ่งกุลา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2532 ในโครงการของไทย-ออสเตรเลีย เกี่ยวกับโครงการส่งเสริมเทคนิคการเกษตรแบบผสมผสาน งานเอดส์ HIV และกลุ่มผู้หญิง เด็กเยาวชน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสถาบันการเงิน ขยับงานไปที่ละขั้น เชื่อมโยงกลุ่มเป้าหมายและสถานการณ์ของบริบทพื้นที่ตำบลทุ่งกุลาในสมัยก่อน ประมาณ 15 ปี พอความแห้งแล้งมา HIV เอดส์เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานคุ้มครองสิทธิ โดยคุ้มครองสิทธิในงานเอดส์ HIV งานสตรี ด้านเด็ก และด้านสิ่งแวดล้อม ทำงานการคุ้มครองสิทธิ การสร้างคน สร้างรายได้ สร้างสถาบันการเงิน (เครดิตยูเนี่ยน) รวมถึงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลทุ่งกุลา จังหวัดร้อยเอ็ด

พ.ศ. 2546 เริ่มทำงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจัดตั้งศูนย์ประสานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่ทำงานอยู่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และร่วมผลักดัน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และพาตัวเองเข้ามาเรียนรู้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค โดยเริ่มพัฒนาตนเองด้วยการยกระดับองค์กร จดทะเบียนเป็นสมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552เรื่อยมา ซึ่งงานคุ้มครองผู้บริโภคงานแรกเป็นงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จึงเริ่มเข้าใจคำว่า “งานคุ้มครองผู้บริโภค” มากขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเป็นสมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด ก็เริ่มทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานกับกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคอีสาน สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น มีส่วนร่วมผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตาม มาตรา 61 ว่าด้วยเรื่องสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ ในการตราและการบังคับใช้กฎหมาย และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าว

ทั้งนี้ตนเองมีส่วนร่วมรณรงค์เชิญชวนพี่น้องเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ผลักดันให้เกิดกลุ่มบุคคล องค์กรผู้บริโภคที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น โดยใช้สื่อพื้นบ้าน (หมอลำ) ช่วยประชาสัมพันธ์งานคุ้มครองผู้บริโภค และงานบริการสุขภาพ และได้แต่งกลอนหมอลำ ม. 61 ให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งสมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนรู้จักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม 16 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยสัญจรไปตามสถาบันการศึกษา และชุมชน จังหวัดละ 2 ครั้ง รวม 46 เวที ผ่านสื่อ ‘หมอลำ’ ให้ความรู้ ถาม-ตอบปัญหาผู้บริโภค เช่น การโฆษณาขายสินค้าออนไลน์ สิทธิผู้บริโภค 5 ประการ สิทธิผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น ให้น้องๆ แต่ละโรงเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้สิทธิผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม และสร้างแกนนำเยาวชนด้านคุ้มครองผู้บริโภค โดยจัดตั้งเป็นชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วม ทั้ง 16 จังหวัด จำนวน 16 โรงเรียน เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้รู้จักคำว่าคุ้มครองสิทธิ คุ้มครองผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภค ถ้าเกิดปัญหาจะร้องเรียน ร้องทุกข์อย่างไร

ความภาคภูมิใจในการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัด คือ มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด (สสจ.ร้อยเอ็ด) กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในจังหวัด จากการขับเคลื่อนปูพื้นฐานงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอำเภอ ทั้ง 20 อำเภอ โดยร่วมกับ สสจ.ร้อยเอ็ด และเครือข่ายเภสัชกรในจังหวัดร้อยเอ็ด จัดกิจกรรมให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องเครือข่ายองค์กรผู้บริโภครู้จักการทำงานคุ้มครองสิทธิ คุ้มครองผู้บริโภค

เริ่มจากประเด็นอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการชวนพี่น้องทำชมรมคุ้มครองผู้บริโภคทุกพื้นที่ในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยใช้การทำงานในประเด็นอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการจดแจ้งการขึ้นทะบียนองค์กรผู้บริโภค (อกผ.3) ให้กับพี่น้องเครือข่ายในจังหวัดร้อยเอ็ด จนเป็นองค์กรสมาชิกชุดจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค จำนวน 7 องค์กร (ชุดแรก) และในปัจจุบัน มีจำนวน 14 องค์กร ที่จดแจ้งการขึ้นทะบียนองค์กรผู้บริโภค (อกผ.3) รวมถึงได้ผ่านการประเมินจากศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สามารถยกระดับเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพได้ 20 องค์กร มีการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน และชวนกันเลือกองค์กรที่เหมาะสมจะเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด จากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค และงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนร่วมกับพี่น้องเครือข่ายองค์กร/ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจ จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ในนามศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด

โดยมีหลักคิดว่า “ถ้าเราอยู่เฉยเขาไม่รู้จักเรา ถ้าเราเดินหน้าไปหาเขา ถือเอกสารแนะนำองค์กร ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคนำไปสื่อสาร พบปะพูดคุยกับทุกหน่วยงานในจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ มาเป็นภาคีหุ้นส่วนกับเรา มี สสจ.ร้อยเอ็ด ช่วยแนะนำหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มองค์กรภาครัฐ และบุคคลสำคัญอีกคนนึงที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ คุณไพบูลย์ ผิวไธสง (ไพบูลย์ เสียงทอง) ศิลปินพื้นบ้าน สาขาวิชาเอกหมอลำ (Mor lam Performing Arts) : หลักสูตรปริญญาดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต (ดศ.ม.) ซึ่งถือเป็นอาจารย์ด้านสื่อพื้นบ้าน (หมอลำ) คนหนึ่งที่เสียสละมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองสิทธิและสนับสนุนงานผู้บริโภค ประจำหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ดด้วยกัน และด้วยความเป็นศิลปินพื้นบ้าน ไปที่ไหนก็มีแต่คนรู้จัก และสามารถช่วยเราได้ทุกกระบวนการ ถือว่าเรามีเพื่อนร่วมงาน มีทีมงานที่ดี มีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ เครือช่ายเภสัชกร ฯลฯ มีกัลยาณมิตรที่ไม่ทิ้งกัน

ทุกพื้นที่เราร่วมมือกันทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ จนเกิดเป็นคณะทำงานจังหวัดบูรณาการ มีการวางแผนการทำงานร่วมกัน เกิดเป็นงานบูรณาการขยับนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด เช่น บูรณาการร้านชำชุมชน RDU ในชุมชน (ร้านชำสีขาว) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ การใช้ยาปฏิชีวณะในฟาร์มการเกษตร ด้านบริการสุขภาพ ทำเรื่องคนไทยไร้สิทธิ์ ไร้สถานะ ขับเคลื่อนผ่านอนุบริการสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เขต 7 จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

เรื่องราวทั้งหมด ที่พี่แมวได้เล่ามานี้ เป็นรูปธรรมการทำงานบูรณาการประสานความร่วมมือ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด โดยใช้“หัวใจ” นำทาง กล่าวคือ “ทำงานด้วยใจ ทั้งพัฒนาคน พัฒนาเครือข่าย สร้างความร่วมมือ” โดยพี่แมว กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการสนทนาเรื่องเล่าจากพื้นที่ในครั้งนี้ว่า“งานทุกงาน เรื่องทุกเรื่อง ถ้าเราทำด้วยใจมันถึงไปได้ ถ้าเราไม่ทำด้วยใจมันไปไหนไม่ได้หรอก เราจะจับมือขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคไปด้วยกัน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค