จี้ สธ. แก้ปัญหา ‘แพทย์ขาดแคลน’ ยกระดับบริการสุขภาพเท่าเทียม

สภาผู้บริโภค รุกกระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลน เพื่อพัฒนานโยบายคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ

จากกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวว่าโรงพยาบาลพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ แจ้งเหลือแพทย์ประจำ 1 คนรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ปรับแผนการให้บริการประชาชน ตั้งแต่วันที่ 27 – 31 พฤษภาคม 2567 นั้น

วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) ธัญลักษณ์ อู่ทองมาก ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า สภาผู้บริโภคทำหนังสือสอบถามไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 เพื่อขอทราบข้อมูลสถานการณ์ ในระบบสุขภาพของไทยทั้ง 3 ระบบ มีแพทย์เพียงพอต่อความจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลน เพื่อนำไปดำเนินงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ มีทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้

  1. กระทรวงสาธารณสุขมีแผนเพิ่มการบรรจุแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหรือแผนการอื่น ๆ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อช่วยลดภาระของแพทย์ไม่ให้ทำงานหนักเกินความจำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาโรค
  2. กระทรวงสาธารณสุขมีการประสานงานกับแพทยสภาในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลน หรือไม่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในต่างจังหวัดที่มีแพทย์ไม่เพียงพอจนส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถรับบริการจากโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ และจำเป็นต้องเดินทางมารักษาในกรุงเทพมหานครหรือโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดต่าง ๆ นำมาซึ่งภาระด้านค่าใช้จ่ายของประชาชน
  3. สภาผู้บริโภคได้รับทราบว่าแพทยสภาอยู่ระหว่างการจัดทำร่างหลักสูตรด้านศัลยกรรมเสริมสวย เช่น การเสริมสวยจมูก การเสริมสวยเต้านม ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี นั้น กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับการจัดทำร่างหลักสูตรดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากสภาผู้บริโภคมีความกังวลว่าจะเป็นการสนับสนุนให้แพทย์หันมาสมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อจำนวนแพทย์ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะแพทย์ให้บริการด้านฉุกเฉิน และการรักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของผู้บริโภคในอนาคต

นางสาวธัญลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า บริการสุขภาพถือเป็นหัวใจสำคัญในการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยรัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ และเท่าเทียมกัน สำหรับกรณีโรงพยาบาลพรเจริญแม้ว่าการมีแพทย์ 1 คนจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ในภาวะปกติมีแพทย์เพียง 4 – 5 คนเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนที่ต้องใช้บริการในสถานที่ดังกล่าวอาจไม่ได้รับการรักษาอย่างมีคุณภาพ และเท่าเทียม ทั้งเรื่องความล่าช้า การวินิจฉัยโรคที่คลาดเคลื่อน ตลอดจนการเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาล โดยหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญคือ บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ

“ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาแพทย์ขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข แต่ละปีมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ลาออกและเกษียณอายุ เฉลี่ยปีละ 655 คน และแพทย์ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในประเทศ จึงกังวลถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีแพทย์ไม่เพียงพอ จนส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถรับบริการจากโรงพยาบาลใกล้บ้านและต้องเดินทางเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหรืออาจขาดโอกาสในการรักษาได้” ธัญลักษณ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านสภาผู้บริโภคและภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เคยร่วมหารือกับรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ โดยมีข้อเสนอ ให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนค่าตอบแทนแพทย์โดยใช้เพดานสูงสุด รณรงค์ขจัดวัฒนธรรมการใช้อำนาจนิยมในโรงพยาบาล รวมทั้งลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยได้

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค