หัวใจของ Active Citizen คือ ประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิผู้บริโภคคุ้มครองตนเอง เพราะเมื่อไหร่ที่ผู้บริโภคลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตัวเอง เมื่อนั้นจะเป็นจุดเปลี่ยนสังคมเหลื่อมล้ำมาเป็นสังคมที่เป็นธรรม

เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมาหลังจากจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง พาตัวเองเข้าไปเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และเลือกไปทำงานโครงการบริโภคเพื่อชีวิตสงขลาซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนองค์กรหนึ่งที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสงขลา และเป็นงานแรกที่ คุณจุฑา สังขชาติ นักศึกษาจบใหม่ไฟแรง ได้พาตัวเองเข้ามาเรียนรู้งานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นงานแรกและงานเดียวที่เป็นตัวตนของตนเองมาจวบจนปัจจุบันนี้

คุณจุฑา สังขชาติ หรือ “พี่สุ” หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา ผู้ที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้รู้จักกันดี เริ่มเข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อปี 2543 ในประเด็นอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชนจังหวัดสงขลา ประสบอยู่ในช่วงดังกล่าว โดยได้ร่วมกับภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐในการให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งตนเองได้ทำงานนี้จนหมดวาระของการเป็นอาสาสมัครของ มอส. (อาสาสมัครของ มอส. มีวาระ 2 ปี) พอหมดวาระก็สมัครเป็นอาสาสมัครทำงานต่อที่เดิม พัฒนางานมาเรื่อยๆ และเนื่องจากโครงการบริโภคเพื่อชีวิตสงขลา เป็นโครงการเล็กๆ มีเจ้าหน้าที่เพียง 2 คน และมีที่ปรึกษาช่วยพัฒนาตัวองค์กร พัฒนางานมาจนถึงปี พ.ศ. 2552 ก็จดทะเบียนเป็นสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา เพื่อให้องค์กรมีความเป็นองค์กรที่ชัดเจน และมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น พอจดเป็นสมาคมผู้บริโภคสงขลา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2552 ก็เริ่มเซ็ตองค์กรให้มีความเป็นทางการมากขึ้น มีกรรมการจากภาควิชาการและเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และเห็นว่าการจัดตั้งเป็นองค์กรมีความสำคัญ เพราะจังหวัดสงขลาเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคใต้ และเป็นศูนย์กลางของคนที่บริโภค ต้องกิน ต้องใช้ ซึ่งก็มักจะมีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเกิดขึ้นตลอดเวลา ณ ตอนนั้นผู้คนไม่ค่อยรู้จักสิทธิของตนเองว่า ตนเองมีสิทธิอะไรบ้าง ตนเองถูกเอาเปรียบอะไรบ้าง

งานคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นงานที่ทำมาต่อเนื่องและพบว่าประเทศไทยยังมีปัญหา มีข้อจำกัด ข้อติดขัดในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานรัฐมีข้อจำกัด กฎหมายต่างๆ ก็มีข้อจำกัดในการทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง ในขณะที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเองก็ขาดข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิของตัวเอง จึงได้พยายามผลักดันให้มีองค์กรอิสระมาทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ณ ตอนนั้นอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ร่วมผลักดันเรื่อยมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ผลักดันมาเรื่อยๆ จนมีสภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นการเปลี่ยนผ่าน เห็นพัฒนาการจากองค์กรการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ในที่สุด

ปัจจุบันสมาคมผู้บริโภคสงขลา ยังคงทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ ทำงานลงลึกกับเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดสงขลา จนมาเป็นสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค และเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา ภายใต้โครงสร้างสภาองค์กรของผู้บริโภคในปัจจุบันนี้ ณ ตอนที่เป็นองค์กรอิสระกับตอนที่เป็นองค์กรผู้บริโภค จนมาเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา มีความยากง่าย มีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร และอยากให้เป็นแบบไหน ก็ต้องบอกว่าที่เราจดทะเบียนเป็นสมาคม คือส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าระบบ ต้องถูกตรวจสอบ ต้องส่งรายงานให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความกังวล เพราะรู้สึกว่าเราอาจจะขาดความเป็นอิสระจากการมีคนมาตรวจสอบ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่า การขาดความเป็นอิสระ นำมาซึ่งการได้รับการยอมรับองค์กรได้รับความน่าเชื่อถือซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เวลาเราไปอธิบายบอกกับใครเราก็จะบอกว่า “เราเป็นสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา” มีสถานะความเป็นองค์กร มีความเป็นนิติบุคคล มีความน่าเชื่อถือ สามารถอธิบายความเป็นตัวเราได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงพยายามพัฒนาสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ให้เป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นที่ไว้วางใจ เชื่อถือ เชื่อมั่นของผู้บริโภค และหน่วยงานคุ้มครองบริโภคในจังหวัดสงขลา

เพราะเชื่อว่าการที่จะทำให้งานคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็งและยั่งยืน กระจายครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดสงขลา ทั้ง 16 อำเภอ ซึ่งมีบริบทวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องมีตัวแทนของผู้บริโภคอยู่ในพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 16 อำเภอ จึงสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มผู้บริโภคในแต่ละอำเภอ เพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรในระดับพื้นที่ ณ ตอนนี้มีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 15 อำเภอ จากทั้งหมด 16 อำเภอ เป้าหมายที่อยากเห็นคือ มีตัวแทนของผู้บริโภคครอบคลุมทั้งจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการสมาคมฯ และเครือข่ายในพื้นที่จะช่วยกันพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพราะเห็นว่าเกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคมาก ถ้าเขาได้เห็นข้อมูลก็สามารถเลือกที่จะซื้อสินค้าและบริการต่างๆ โดยที่ไม่ถูกหลอก หรือถ้าถูกหลอก ถูกเอารัดเอาเปรียบก็สามารถเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ และการมีสภาองค์กรของผู้บริโภคก็ช่วยให้เราทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาการขอทุนจากแหล่งทุนต่างๆ มาทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ หน่วยงานสนับสนุนทุนมักมองว่างานคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำงานรับเรื่องร้องเรียนเป็นงานที่ไปสร้างความขัดแย้ง ซึ่งหากมองในเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิผู้บริโภคไทย 5 ประการ จะเห็นว่างานคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้สร้างความขัดแย้ง แต่สร้างประโยชน์ให้กับทุกคน ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ดังนั้นคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต้องมีศักยภาพ มีความรู้เรื่องกฎหมาย มีทักษะ สามารถเจรจา ไกล่เกลี่ย ต่อรอง ประสานงานได้ สามารถมองภาพความเชื่อมโยงได้ รวมถึงต้องมีทนาย หรือนักกฎหมายที่ให้คำปรึกษาได้ ดังนั้นการมีสภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งมีภารกิจสนับสนุนงานรับเรื่องร้องเรียนชัดเจน ทำให้เราสามารถพัฒนางานรับเรื่องร้องเรียนได้อย่างเต็มที่ในทุกประเด็นปัญหาของผู้บริโภค ทั้ง 8 ด้าน กับอีก 1 ประเด็นการศึกษา สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม


ระหว่างงานรับเรื่องร้องเรียนกับงานเครือข่ายมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร สมาคมผู้บริโภคสงขลามีความรู้ในงานคุ้มครองผู้บริโภคมายาวนาน หัวใจสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค คือ เป็นตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคในการ เฝ้าระวังรับเรื่องร้องเรียน สมาคมฯ ไม่สามารถทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ดังนั้นการมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคครอบคลุมทั้ง 16 อำเภอของจังหวัดสงขลาจึงมีความจำเป็น และเมื่อเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมีความเข้าใจงานคุ้มครองผู้บริโภคจนสามารถรับเรื่องร้องเรียนได้ เมื่อนั้นจังหวัดสงขลาจะเป็น “แลนด์สไลด์ในบริบทเมืองเพื่อผู้บริโภค ผู้ผลิตเคารพสิทธิผู้บริโภค ผู้บริโภคเป็นพลเมืองเต็มขั้น รู้จักสิทธิของตนเอง และใช้สิทธิของตนเอง ปกป้องตนเองจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้

เล่ามาถึงตรงนี้ มีความยากง่ายหรือหนักใจอะไรไหม “ก็ต้องบอกว่ามันไม่ง่าย และมันก็ไม่ยาก เพียงเราต้องชวนกันทำ สมมุติว่าสำนักงานเราอยู่หาดใหญ่ และคนร้องเรียนอยู่จะนะ ระยะทางที่จะไปถึงประมาณ 50 กิโลเมตร ไม่สามารถลงไปช่วยผู้บริโภคที่จะนะได้ในทันที เช่น ลงไปดูพื้นที่ ดูข้อเท็จจริง  เราต้องใช้งบประมาณ ใช้ทีมงานในการเดินทาง ซึ่งเราไม่สามารถไปได้ทุกพื้นที่ การที่เรามีตัวแทนอยู่ในพื้นที่ ให้เขาช่วยประสานงาน เก็บรวบรวมข้อมูล สามารถช่วยแบ่งเบาภาระสมาคมฯ ได้เยอะเลย สิ่งสำคัญคือ สื่อสารให้เข้าใจว่าเราทำเรื่องนี้ไปทำไม เราทำอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมาเสริมศักยภาพว่า ถ้าเกิดเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ เขาจะต้องทำอะไรบ้าง ด้านไหนต้องปฏิบัติยังไง สามารถรับเรื่องร้องเรียนเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคได้ เพียงแค่ทำหน้าที่ช่วยเก็บรวบรวม ไปดูสถานที่จริงแล้วก็ส่งข้อมูลมาให้สมาคมฯ ส่วนนี้ที่เครือข่ายสามารถช่วยได้  อีกส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่า ต่อให้เราอบรมรื่องร้องเรียนสักกี่ครั้ง หากเราไม่เคยทำหรือทำไม่เป็นก็จะไม่เข้าใจมัน ไม่เท่ากับการที่เราได้ลองทำเองเพียงแค่ครั้งเดียวเราก็เข้าใจ จึงสนับสนุนให้เกิดการลงมือปฏิบัติทำงานรับเรื่องร้องเรียน เพราะต่อให้เราจัดอบรมเรื่องร้องเรียนสักกี่ครั้ง หากไม่ลงมือปฏิบัติ ไม่ฝึกรับเรื่องร้องเรียนจริง วิเคราะห์เคสด้วยตัวเองจริงๆ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะงานคุ้มครองผู้บริโภค คือ งานเสริมแรง เสริมอำนาจให้พลเมืองไทย รู้จักสิทธิขั้นพื้นฐาน เข้าถึงสิทธิ และใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองด้วยความมั่นใจ ผลที่ได้ออกมานอกจากนอกจากช่วยผู้บริโภคได้แล้ว องค์กรผู้บริโภคก็จะเข้มแข็งขึ้น คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคก็จะเก่งขึ้น มีความรู้ เชี่ยวชาญในงานคุ้มครองผู้บริโภค และมีความเข้าใจเพื่อนด้วย

อะไรคือความภาคภูมิใจที่สุดกับงานคุ้มครองผู้บริโภคที่สั่งสมประสบการณ์ทำงานมามากกว่า 20 ปี  “คิดอยู่เสมว่าถ้าระบบมันดีสังคมจะดีเอง” หากจะพูดถึงความภาคภูมิใจมีหลายอย่างมาก เวลาที่มีคนถามว่าทำไมถึงทำงานคุ้มครองผู้บริโภค จะรู้สึกว่าเวลาพูดถึงงานผู้บริโภค หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องเล็กน้อยที่เรากิน เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่สามารถทำให้สังคมมีความเป็นธรรมได้จากเรื่องเล็กน้อย เพราะเรื่องเล็กน้อยที่หลายคนเฝ้ามองอยู่นั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องห้าบาท สิบบาทตามมูลค่าที่ประชาชนกินและใช้ชีวิตประจำวัน หากเราทำเรื่องผู้บริโภคให้มันดี ก็จะช่วยทำให้สังคมเกิดความเป็นธรรม มีระบบที่เป็นธรรม มีการค้าที่เป็นธรรม ประชาชนในฐานะผู้บริโภคทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยได้รับการคุ้มครองจากเรื่องเล็กน้อยอย่างงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ และสังคมของเราจะดีขึ้นได้ด้วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

เรื่องผู้บริโภค คือ หัวใจของความเป็น Active Citizen เพราะเรื่องเล็กๆ เหล่านี้ ถ้าผู้บริโภคเข้าใจสิทธิ รู้จักสิทธิ และใช้สิทธิ รวมถึงมีตัวแทนผู้บริโภคที่เป็นหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือองค์กรผู้บริโภคคอยเป็นเดือดเป็นร้อนแทนผู้บริโภค สิ่งเล็กๆ ที่ทำก็สามารถเปลี่ยนระบบใหญ่ได้ อยากให้ทุกคนใช้สิทธิของตัวเองนะ เพราะถ้าผู้บริโภคใช้สิทธิของตัวเอง มันไม่ใช่แค่เรื่องการได้รับความคุ้มครองของตัวเองเท่านั้น แต่จะช่วยพัฒนาสังคมของเราให้เป็นสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง อย่าปล่อยแล้วบอกว่า “ช่างมันไม่เป็นไรหรอก” เพราะคำว่าช่างมัน ไม่เป็นไรหรอกเป็นสารตั้งต้นของการที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่เราบอกว่าช่างมัน ก็จะมีผู้ประกอบการที่รู้สึกว่าไม่เป็นไร ผู้บริโภคไม่รู้หรอก แล้วก็เอาเปรียบไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ถ้าเราทุกคนช่วยกันใช้สิทธิจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเราทุกคนให้ดีขึ้น จึงอยากจะให้ทุกคนใช้สิทธิของตัวเอง เพราะเมื่อไหร่ที่ผู้บริโภคลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตัวเอง เมื่อนั้นจะเป็นจุดเปลี่ยนสังคมเหลื่อมล้ำมาเป็นสังคมที่เป็นธรรมได้ อยากให้เรื่องของสิทธิผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศไทยด้วย

สุดท้ายถ้าขอพร 3 ประการได้ อยากขออะไร

ประการแรก อยากขอให้ สภาองค์กรของผู้บริโภค แข็งแรง เป็นองค์กรที่ที่มั่นคง ยั่งยืน อยู่คู่กับสังคมไทย อยู่คู่กับประเทศไทย เพราะเชื่อว่าถ้าสภาองค์กรผู้บริโภคสามารถยืนหยัดอยู่ได้ จะช่วยเหลือผู้บริโภค ช่วยยกระดับสังคม ทั้งในเรื่องมาตรฐานการคุ้มครองบริโภค และคุณภาพชีวิตประชาชน ถ้าไม่ถูกการเมือง ไม่ถูกพายุโหมกระหน่ำจากทุนต่างๆ ที่พยายามจะล้มสภาองค์กรผู้บริโภค เชื่อว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคได้ ซึ่งเป็นพรข้อแรกที่สำคัญ

ประการที่สอง ขอให้องค์กรผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง สามารถช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยที่ยังคงความเป็นองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคควบคู่ไปกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยผู้บริโภคในพื้นที่และในระดับจังหวัดได้ เนื่องจากสภาองค์กรของผู้บริโภค คงไม่สามารถดูแลผู้บริโภคทั้งประเทศได้ ดังนั้นการมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะทำให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง องค์กรผู้บริโภคสามารถทำงานได้ สังคมที่เป็นธรรมก็เกิดขึ้นได้

ประการที่สาม ขอให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง เข้าใจสิทธิ รู้จักสิทธิ และใช้สิทธิของตัวเอง

หลักคิดพวกนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากพี่ปุ่ม (สารี อ๋องสมหวัง) เป็นหลักคิดสำคัญที่มักจะพูดและเน้นย้ำกับเครือข่าย และทำให้เห็นว่างานคุ้มครองผู้บริโภคสำคัญยังไง เพราะเวลาเราทำงานในพื้นที่ท่ามกลางประเด็นร้อน หรือประเด็นทรัพยากรในกลุ่มเพื่อน NGOs ประเด็นผู้บริโภคมักถูกมองว่าเป็นพวกหน่อมแน๋ม เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราก็โวยวาย ซึ่งในความเป็นจริงงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นประเด็นที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้สังคมเป็นธรรมผ่านการใช้สิทธิของผู้บริโภคทุกคน ซึ่งเป็นประเด็นที่พี่ปุ่มให้แนวคิดในหลายๆ เวที เราก็เก็บเกี่ยวประเด็นเหล่านี้มา เพราะเป็นหลักสำคัญในการทำงานขององค์กรผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค