รุกคืบ! ผนึกกำลังขยายการปกป้องสิทธิผู้บริโภคภาคใต้

พบการหลอกโอนเงินออนไลน์ พิษแชร์ลูกโซ่ ผลกระทบจากมลพิษโรงไฟฟ้าขยะ เหล่านี้คือปัญหาใหญ่ ของผู้บริโภคภาคใต้ ที่กำลังเผชิญอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผลสำรวจกลับพบว่า มีผู้บริโภคเพียงร้อยละ 2 ตื่นตัวลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง ทั้งนี้ ในการสัญจรพื้นที่ภาคใต้ของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงร่วมผนึกกำลังกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ เตรียมขยายงานคุ้มครองสิทธิ สร้างศักยภาพผู้บริโภค และขยายเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้คนใต้เข้าถึงการคุ้มครองสิทธิอย่างทั่วถึง

สอบ. จัดประชุมพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2565 ที่โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และองค์กรผู้บริโภคภาคใต้เข้าร่วม

ภญ.ชโลม เกตุจินดา หัวหน้ากลไกเขตพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ไม่แตกต่างจากปัญหาของพื้นที่ทั่วประเทศ คือ การถูกหลอกลวงทางออนไลน์ แต่ในระดับการตื่นตัวเพื่อปกป้องสิทธิยังไม่มากนัก โดยจากการสำรวจความเห็นผู้บริโภคผ่านกูเกิลฟอร์ม (Google Form) กรณีปัญหาการซื้อขายออนไลน์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 100 เคยซื้อของออนไลน์ และพบว่า มีปัญหาร้อยละ 50 แต่มีผู้ร้องเรียนเพียงแค่ร้อยละ 2 เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า รูปแบบการหลอกลวงการค้าขายออนไลน์ เป็นรูปแบบเฉพาะในพื้นที่พี่น้องมุสลิม ที่มีลักษณะการเชิญชวนลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่ โดยให้กลุ่มคนแต่งตัวเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาและอธิบายตามหลักของศาสนาอิสลามให้มีความน่าเชื่อถือและจูงใจ จากนั้นชวนลงทุนในจำนวนเงิน 8,000 บาท และอ้างว่าจะได้คืนภายใน 7 วัน ในจำนวนเงินถึง 50,000 บาท ซึ่งทำให้มีผู้หลงเชื่อและถูกหลอกให้โอนเงินไปเป็นจำนวนมาก

“ปัญหาการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิผู้บริโภคในพื้นที่ ซึ่งกำลังดำเนินการมีอีกหลายประเด็น เช่น มลพิษจากโรงไฟฟ้าขยะที่หาดใหญ่ ที่ชาวบ้านในชุมชนร้องเรียนเพราะโรงไฟฟ้าเผาไหม้ไม่ดีทำให้เกิดมลพิษ นอกจากนี้ยังพบว่า ในห้างดังของหาดใหญ่หลอกขายคอร์สเสริมความงามที่ให้โอนเงินไปก่อน ซึ่งบางรายโดนหลอกให้โอนเงินไปถึง 50,000 บาท” ภญ.ชโลม กล่าว

หัวหน้ากลไกเขตพื้นที่ภาคใต้ กล่าวอีกว่า ปัญหาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ หรือการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ หรือการขายคอร์สเสริมความงาม ขณะนี้ เครือข่ายกำลังหารือร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้มีการป้องกันในระดับนโยบาย เช่น การหลอกขายออนไลน์ อาจต้องพูดคุยกับค่ายโทรศัพท์มือถือว่าจะมีแนวทางในการป้องกันการโทรมาหลอกลวงได้อย่างไร

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ.กล่าวถึงภารกิจในการสัญจรว่า สอบ.ลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อชวนองค์กรผู้บริโภคเร่งขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งมีความคาดหวังว่า ทุกจังหวัดจะมีสมาชิกสภาของ สอบ. เพื่อช่วยรักษาประโยชน์ให้ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้บริโภค ‘มีเพื่อนที่รู้จัก มีคนที่รู้ใจ รู้จริง ที่จัดตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ที่ต้องการให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ และได้ผลักดันและรณรงค์เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 กระทั่งเกิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562

ทั้งนี้ สอบ.ที่ตั้งขึ้น จะร่วมกันแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ไม่ต่างจากเพื่อน คนรู้ใจ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้บริโภคภาคใต้ในหลายจังหวัดที่ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค เกิดการรวมตัวกันเพื่อปกป้องผู้บริโภคในพื้นที่นั้น ๆ

ขณะที่ พิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ผู้บริโภคในหลายจังหวัดยังไม่ตื่นตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อรวมกันปกป้องสิทธิผู้บริโภค โดยทั่วประเทศมีเพียงแค่ 40 จังหวัดที่มีองค์กร ส่วนบางจังหวัดยังไม่มีตัวแทน หรือมีตัวแทนการทำงาน แต่ยังทำงานที่เป็นหลักวิชาการ หรือทำงานแบบให้เกิดหลักฐานเชิงประจักษ์ยังไม่ดีพอ ดังนั้น การลงพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้เป็นไปเพื่อแนะนำการรวมตัว และการทำงานในเชิงการเก็บหลักฐาน เพื่อใช้อ้างอิงเชิงประจักษ์ได้