เวทีผู้บริโภคภาคใต้ พบอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ กว่า 81 รายการยังขายออนไลน์ ทั้งที่ อย. ถอนทะเบียนแล้ว 

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ร่วมนำเสนอข้อมูลผลการเฝ้าระวังอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถอนทะเบียนแล้ว 81 รายการ พบยังมีการจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก พร้อมหาแนวทางสร้างความร่วมมือจัดการปัญหาระดับพื้นที่ รวมถึงจัดทำข้อเสนอแก้ปัญหาเชิงนโยบาย 

ภญ.ชโลม เกตุจินดา หัวหน้ากลไกเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์เวทีสภาผู้บริโภคภาคใต้ ครั้งที่ 11 นี้ จัดขึ้นในหัวข้อ ‘การจัดการอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์’ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายผู้บริโภคในการจัดการปัญหาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ถูกถอนทะเบียนแล้วบนแพลตฟอร์มออนไลน์

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจปัญหาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยนำเลขที่จดทะเบียนผลิตภัณฑ์ ตรวจเช็กเลขทะเบียนสารบบกับฐานข้อมูลของ อย. หากพบข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ยกเลิก หรืออวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เครือข่ายผู้บริโภคจะบันทึกภาพผลิตภัณฑ์และส่งเข้ากูเกิลฟอร์ม (Google Form) เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หัวหน้ากลไกเขตพื้นที่ภาคใต้ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศเฝ้าระวังสินค้าทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งผลิตภัณฑ์ ตัวดารา บุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer) ว่ามีการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ครั้งนี้เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้แบ่งสำรวจผลิตภัณฑ์ และพบว่า การสำรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ยกเลิกเลขสารบบอาหารในระบบออนไลน์ไปแล้ว ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เดิม โดยใช้ชื่อเดิมและเลขสารบบเดิม บางร้านใช้ชื่อผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ บางร้านเปลี่ยนเลขสารบบอาหารใหม่ แต่เมื่อตรวจสอบกลับไม่พบเลขสารบบอาหารใหม่ในระบบของ อย. หรือบางร้านใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ใช้เลขสารบบเดิม 

จากการสำรวจ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ อย. ถอนทะเบียนจากร้านค้าออนไลน์ 816 ร้านค้า จำนวนทั้งสิ้น 81 รายการ ซึ่งพบบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ ช้อปปี้ (Shopee) ร้อยละ 44 ลาซาด้า (Lazada) ร้อยละ 19.7 เฟซบุ๊ก (Facebook) ร้อยละ 10.4 เว็บไซต์ (Website) ร้อยละ 5.64 กูเกิล (Google) ร้อยละ 4.7 อินสตาแกรม (Instagram) ร้อยละ 4.4 เจดีเซ็นทรัล (JD Central) ร้อยละ 4.41 และยูทูป (Youtube) ร้อยละ 2.9 โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาสูงสุด คือ มิโวลิส วิตามินรวม ที่ อย. ประกาศว่าเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม และอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ อย.เตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ ตัวแทนของ สสจ. ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการสำรวจดังกล่าว ดังนี้ 

  • ต้องการให้ทำข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ
  • จะนำข้อมูลที่ได้จากระบบฯ ร่วมพูดคุยกับร้านค้าออนไลน์ ช้อปปี้ ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 
  • ต้องการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้ 

ขณะที่ ข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีการยกเลิกเลขสารบบอาหารในระบบออนไลน์ของเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

  • ข้อเสนอต่อ อย. ให้จัดการระบบฐานข้อมูล ระบบสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ อีกทั้งขอให้ สสจ. ตรวจสอบข้อมูลรายการผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ทั้งข้อมูลการประกาศยกเลิกผลิตภัณฑ์ 81 รายการ ให้มีภาพและรายละเอียดที่ครบถ้วน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในสื่อออนไลน์และตลาดออนไลน์ (E-Marketplace)
  • ข้อเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้จัดการข้อมูลที่เจอในแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เป็นปัจจุบัน และมีเลขสารบบที่ถูกต้อง มีมาตรการจัดการกับร้านค้าที่โพสต์ขายสินค้า แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวในระบบออนไลน์

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค