จับมือ สกมช. ปราบภัยไซเบอร์ ลุยอบรมองค์กรสมาชิก

สภาผู้บริโภค จับมือ สกมช. จัดการปัญหาภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ พร้อมเดินหน้าจัดอบรมเสริมแกร่งองค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภค

วันนี้ (22 เมษายน 2567) สภาผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หารือความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภค ในการจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) หรือภัยไซเบอร์ ที่ปัจจุบันมิจฉาชีพได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) หรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เข้ามาหลอกลวงผู้บริโภคจนทำให้เกิดผลกระทบตั้งแต่ผลกระทบกับผู้บริโภค เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมหาศาล โดยความเห็นระหว่างสภาผู้บริโภค และ สกมช. เห็นร่วมกันว่า “พื้นที่ออนไลน์ต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อให้การค้าขายและทำธุรกรรมอื่น ๆ ปลอดภัย เป็นผลดีต่อทั้งผู้ค้าขายและผู้บริโภคด้วย”

ทั้งนี้ ในการหารือดังกล่าวมีจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค ร่วมหารือกับพลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงาน สกมช. พ.ต.อ.ณัทกฤช พรหมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Thai Ncert) และเจ้าหน้าที่ สกมช. เข้าร่วม

เพื่อให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงความรุนแรงของปัญหา โสภณ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ให้ข้อมูลเรื่องร้องเรียนที่สภาผู้บริโภคได้รับ เกี่ยวกับกรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 จนถึงเดือนเมษายน 2567 มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามากว่า 3,456 เรื่อง สามารถแบ่งลักษณะปัญหาที่ผู้บริโภคพบ ได้แก่ 1. ถูกฉ้อโกง หลอกลวงจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) เมื่อจ่ายเงินไปแล้วแต่กลับไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงซื้อไว้ รวมทั้งไม่สามารถติดต่อร้านค้าได้

2. เมื่อจ่ายเงินซื้อสินค้าบนเฟซบุ๊กไปแล้วแต่ได้รับสินค้าหรือบริการไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ 3. ถูกหลอกลวงจากการสร้างเฟซบุ๊กเพจ (Facebook Fanpage) ปลอมหรือมีการชักชวนให้ทำงานหรือลงทุน และ 4. ถูกหลอกลวงจากเฟซบุ๊กเพจปลอมที่แอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงร้านค้าชื่อดัง ซึ่งบางเพจมีการยืนยันตัวตน (Verified Page) กับเฟซบุ๊กแล้ว

โสภณ เปิดเผยว่า ในจำนวน 2,539 เรื่องจากจำนวนทั้งหมดข้างต้น เฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงมากที่สุด ขณะที่แพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้แก่ เอ็กซ์ (X) หรือทวิตเตอร์ ตลาดออนไลน์ (E – Marketplace) อินสตาแกรม (Instagram) เว็บไซต์ ไลน์ (LINE) และติ๊กต็อก (TikTok) เป็นช่องทางที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายและร้องเรียนเข้ามาที่สภาผู้บริโภค ตามลำดับ โดยสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคทั้งการเตือนภัย การให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคหากต้องการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงวิธีการตรวจสอบเฟซบุ๊กเพจ

อีกทั้งยังได้ประสานความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียในการหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาและคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้บริการบนแพลตฟอร์มเหล่านั้น

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้มีการหารือในการผลักดันนโยบายเพื่อป้องกันภัยทุจริตทางการเงิน ได้แก่ การพัฒนาแจ้งเตือนภัยก่อนการโอนเงินไปยังหมายเลขบัญชีต้องสงสัยที่มีความเสี่ยงสูง การผลักดันให้ธนาคารชดเชยเยียวยาผู้เสียหายเจ้าของบัญชี การเร่งผลักดันมาตรการการแสดงตัวตนของผู้ขายสินค้าออนไลน์ทุกรายต่อผู้บริโภคในทุกแพลตฟอร์มดิจิทัล และการรักษาสิทธิของผู้บริโภคในการขอเปิดไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งมีความหมายรวมถึงห่อพัสดุเพื่อตรวจสอบพัสดุต่อหน้าพนักงานได้ก่อนชำระค่าสินค้าและค่าส่ง

นอกจากนี้ได้พัฒนาความร่วมมือกับ สกมช. ในการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้บริโภคในการสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยทุจริตทางการเงิน โดยหลังจากนี้จะมีการให้ความรู้ จัดอบรมองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและเท่าทันภัยไซเบอร์จนสามารถนำความรู้และข้อมูลไปใช้ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของสำนักปฏิบัติการจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Thai Ncert) พ.ต.อ.ณัทกฤช ได้เปิดเผยว่า จากการปฏิบัติการเชิงรุกในการเฝ้าระวังการหลอกลวงออนไลน์ พบว่า โซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น ยังคงเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงมากที่สุด โดยมีทั้งลักษณะที่มิจฉาชีพใช้เฟซบุ๊กในการโฆษณาและชวนผู้เสียหายสนทนาต่อบนไลน์ ซึ่งรูปแบบการหลอกให้ลงทุนออนไลน์เป็นรูปแบบที่พบมากและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงมากในปัจจุบัน โดยมิจฉาชีพมีการใช้เอกสารทั้งจริงและปลอม หรือการทำให้ดูเหมือนว่ามีผู้ติดตามจำนวนมากเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและหลอกให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ รวมถึงมีการหลอกให้ลงทุนมีการทำทีให้กำไรก่อนและสามารถให้ผู้เสียหายถอนเงินออกมาได้เพื่อชวนให้ลงทุนจำนวนมากขึ้น

นอกจากรูปแบบข้างต้นยังมีรูปแบบการหลอกแจ้งความออนไลน์ รูปแบบการหลอกลวงอื่น ๆ อาทิ การหลอกขายของทางออนไลน์ การหลอกให้ทำงาน สร้างเฟซบุ๊กเพจที่พักปลอม หลอกให้ผ่อนมือถือ หรือการอ้างหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ และการพนันออนไลน์ ตามลำดับ

พ.ต.อ.ณัทกฤช ระบุว่า ปัจจุบันได้มีการทำงานร่วมกับแพลทฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้ปิดหรือนำออกจากระบบเมื่อเฝ้าระวังและพบว่าโซเชียลมีเดียเหล่านั้นมีความเสี่ยงและทำให้มีผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ซึ่งรูปแบบที่กล่าวไปข้างต้นนั้นมีทั้งส่วนที่แพลทฟอร์มให้ความร่วมมือนำออกจากระบบโดยทันที ได้แก่ หลอกลงทุนออนไลน์ หลอกแจ้งความออนไลน์ ขณะที่พนันออนไลน์และการหลอกลวงประเภทอื่น ๆ นั้นยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่คาดหวัง สกมช.จึงได้หาช่องทางและแนวทางอื่น ๆ เพื่อจัดการปัญหาภัยไซเบอร์เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการจาก Thai Ncert ได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า หากผู้บริโภคเกิดข้อสงสัยและต้องการตรวจสอบว่าเฟซบุ๊กเพจใดเป็นของจริงหรือไม่ สามารถสอบถามโดยตรงผ่านอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ThaiCert (https://www.facebook.com/thaicert) นอกจากนี้ หากต้องการร่วมรายงานโซเชียลมีเดียที่เข้าข่ายหลอกลวง สามารถส่งข้อมูลโดยการแนบภาพบันทึกหน้าจอ ลิงก์ URL และหลักฐานอื่น ๆ ได้ที่อีเมล [email protected] โทรศัพท์ 02 114 3531 หรือไลน์ทางการ @ncert_ncsa

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค