
สภาผู้บริโภคยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง ขอเพิกถอนหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น กสทช. หวั่นเปิดทางผูกขาด – รัฐสูญเสียรายได้ – ผู้บริโภคเสียประโยชน์ หลังตลาดเหลือผู้เล่นหลักเพียงสองราย
วันนี้ (27 พฤษภาคม 2568) สภาผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค และชมรมสันติประชาธรรม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำ 1173/2568 เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีการฟ้องร้องสำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ร่วมด้วย เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ในย่าน 2100 MHz และ 2300 MHz โดยให้เหตุผลว่าอาจขัดต่อหลักกฎหมาย ทั้งในด้านขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขการประมูล ที่ไม่สะท้อนสภาพตลาดและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน


การฟ้องร้องดังกล่าว อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า มีเป้าหมายเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศของ กสทช. และให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด และมีกลไกควบคุมคุณภาพบริการหลังประมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม
ขณะที่ตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยขณะนี้เหลือผู้ประกอบการหลักเพียง 2 รายใหญ่คือ AIS และ TRUE ทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมาก แต่ประกาศของ กสทช. กลับไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการรองรับความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดที่ผูกขาด เช่น ไม่กำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดก่อนการประมูลเพื่อควบคุมราคาค่าบริการในอนาคต ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลมีอำนาจเหนือตลาด หรือไม่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเสนอแผนคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน
รวมทั้งสถานการณ์ตลาดปัจจุบันหลังการควบรวมกิจการ ทำให้ TRUE และ AIS ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 97.29% โดยไม่มีคู่แข่งรายใดสามารถต่อกรได้ อีกทั้งในการประมูลครั้งนี้ยังคาดว่าจะไม่มีผู้เข้าร่วมรายใหม่ โดยเฉพาะเมื่อบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ไม่พร้อมเข้าร่วมประมูลตามที่เคยประกาศไว้ และไม่มีอุปกรณ์โครงข่ายรองรับการใช้งานคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ขณะเดียวกัน TRUE และ AIS ต่างมีอุปกรณ์โครงข่ายรองรับคลื่นที่ตนถือสิทธิ์อยู่ ส่งผลให้โอกาสในการแข่งขันแทบไม่มี และเปิดทางให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ครองตลาดโดยไร้คู่แข่ง
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังไม่มีมติอนุมัติให้ NT ซึ่งมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ เข้าร่วมประมูล และ NT เองก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ในการเตรียมตัวเข้าร่วมแข่งขัน ทั้งที่การประมูลจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ทำให้โอกาสของ NT ในการถือครองคลื่นใช้งานในอนาคตริบหรี่ลง และลดโอกาสในการคงอยู่ของผู้เล่นที่ไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่


ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย สภาผู้บริโภค ระบุว่า ขณะนี้ กสทช. ยังไม่มีแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด และกำหนดราคาขั้นต่ำของการประมูลไว้อย่างต่ำผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากการเช่าคลื่นความถี่ในอดีต เช่น คลื่น 2100 MHz มีราคาขั้นต่ำเพียง 4,500 ล้านบาทต่อ 15 ปี หากประมูลหมดทั้ง 3 ชุด รัฐจะมีรายได้เพียง 13,500 ล้านบาท ขณะที่ NT เคยปล่อยเช่าในอัตราปีละ 3,900 ล้านบาท หากครบ 15 ปี จะสร้างรายได้ถึง 58,500 ล้านบาท
ส่วนคลื่น 2300 MHz กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 2,596.15 ล้านบาทต่อ 15 ปี หากประมูลหมดทั้ง 6 ชุด จะนำรายได้เข้ารัฐเพียง 15,576 ล้านบาท ขณะที่ NT เคยปล่อยเช่าคลื่นนี้ปีละ 4,510 ล้านบาท หากรวม 15 ปี จะมีรายได้ถึง 67,650 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้บริโภค ชี้ว่าการตั้งราคาประมูลต่ำขนาดนี้ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัฐ และอาจทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง เช่น ค่าบริการที่ควรถูกลงแต่ไม่มีการบังคับหรือกลไกควบคุม
ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือถึง กสทช. คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนกระบวนการจัดประมูล แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ ทำให้เห็นว่าการปล่อยให้การประมูลดำเนินต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข อาจสร้างความเสียหายต่อรัฐและผู้บริโภคในระยะยาว จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
สำหรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองครั้งนี้ วศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความของสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคขอให้ศาลมีคำสั่ง 4 ประการ ได้แก่
1. เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz เฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz และ ประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง การขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ลงวันที่ 29 เมษายน 2568 เฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz
2. ขอศาลปกครองกลางได้โปรดมีคำสั่งให้ คณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน กสทช. และ เลขาธิการ กสทช.ทำหน้าที่ดำเนินการแก้ไขประกาศฯ พิพาททั้งสองฉบับในส่วนของการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลคลื่น MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ให้มีความเหมาะสมและมีหลักเกณฑ์ในการคิดราคาขั้นต่ำโดยอยู่บนพื้นฐานอ้างอิงจากค่าเช่าในสัญญาต่างตอบแทนที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ทำสัญญาต่างตอบแทนกับกลุ่มบริษัท ทรู และ บริษัท
แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN เพื่อให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชาติและการคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันการผูกขาดและให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทย ตามมาตรา 60
3. ขอให้ศาลปกครองกลางสั่งการให้คณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน เลขาธิการ กสทช. และ กสทช. ทำหน้าที่แก้ไขประกาศพิพาททั้งสองฉบับเฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ให้มีการจัดประมูลแยกกันตามคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงสภาพการแข่งขันของตลาดที่เหลือเพียงสองราย และให้มีการกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการประมูลที่ส่งเสริมให้เกิดผู้เข้าแข่งขันรายใหม่เพื่อเพิ่มการแข่งขันของตลาด ตลอดจนมีการกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประมูลมีการเสนอแผนในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน
4. ขอให้ศาลปกครองกลางสั่งการให้ คณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน กสทช. และ เลขาธิการ กสทช. กำหนดใช้อำนาจตามมาตรา 42(2) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้บริหารจัดการคลื่นโทรคมนาคมนำมาใช้ในการบริการสาธารณะแก่ประชาชน โดยผ่านบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที โดยให้บริษัทที่ชนะการประมูลทำสัญญาเช่ากับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที และให้นำค่าเช่าส่งเป็นรายได้กลับเข้ารัฐ
และ 5. ขอให้ศาลปกครองกลางสั่งการให้ คณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน กสทช. และ เลขาธิการ กสทช. ทำหน้าที่กำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสําคัญในตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสําคัญในตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน



หมายเหตุ : ดัชนี HHI เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้แพร่หลายในระดับสากล ที่ใช้วัดระดับความมีประสิทธิภาพของการแข่งขันในตลาดว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยค่ามาตรฐานของดัชนีอยู่ที่ 2,500 หากตลาดมีค่าดัชนี HHI สูง แสดงว่าตลาดนั้นอาจมีอัตรากระจุกตัวสูง และอาจขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน