เตือนภัย มิจฉาชีพหลอกดูดเงินรูปแบบใหม่ ระบาดหนักช่วงยื่นภาษี

รูปแบบที่ 1 : ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร แบ่งการหลอกลวงเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

1) โทรติดต่อมาที่โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และอ้างว่าพบปัญหา / ความผิดปกติของข้อมูลการเสียภาษี ฯลฯ หลังจากนั้นก็ทำทีโอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสร้างสถานการณ์ให้ผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จนกระทั่งผู้เสียหายยินยอมโอนเงินไปให้มิจฉาชีพ

2) โทรติดต่อมาที่โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และอ้างว่าพบปัญหา / ความผิดปกติของข้อมูลการเสียภาษี ฯลฯ พร้อมส่งช่องทางติดต่อทาง LINE เพื่อพูดคุยข้อมูลอื่น ๆ เมื่อเหยื่อ Add LINE แล้ว มิจฉาชีพจึงส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอม เมื่อกดเข้าไปยังลิ้งก์ปลอมดังกล่าวมิจฉาชีพจึงสามารถเข้าควบคุมมือถือและโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหายผ่าน Mobile Banking

หากผู้บริโภคพบว่ามีการเรียกเก็บภาษีโดยใช้วิธีตามลักษณะดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภคขอแนะนำให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อเนื่องจาก กรมสรรพากรไม่มีนโยบายขอตรวจสอบการชำระภาษี / คืนภาษี ผ่านการดำเนินการทางโทรศัพท์

มีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชำระภาษีหรือคืนภาษี แนะนำให้ติดต่อไปที่ สรรพากร Call Center 1161  ซึ่งให้บริการข้อมูลสรรพากร ตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 18.00 น.  ทุกวันทำการเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและผู้บริโภคสามารถเข้าไปยื่นภาษีออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร  www.rd.go.th/272.html

รูปแบบที่ 2 : ปลอมเป็นร้านค้า

ส่งลิงก์ปลอมมาทางไลน์ หรือข้อความสั้น (SMS) โดยเขียนให้เหมือนเป็นใบกำกับภาษี เมื่อผู้บริโภคกดเข้าไปยังลิ้งก์ปลอมดังกล่าวมิจฉาชีพจึงสามารถเข้าควบคุมมือถือและโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหายผ่าน Mobile Banking

นอกจากนี้ยังมีมิจฉาชีพในรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น ปลอมเป็นไปรษณีย์ไทย โทรศัพท์แจ้งเรื่องพัสดุผิดกฎหมาย หรือ ปลอมเป็นสายการบิน ส่ง SMS แจกตั๋วบินฟรี ส่งลิงก์ทางไลน์ กดเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น


พบปัญหาการหลอกลวง ไม่ว่าจะรูปแบบที่ 1 หรือ รูปแบบที่ 2 หรือปัญหาผู้บริโภคด้านอื่น ๆ สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสมายังสภาผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่าง

📬 ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public

📬 อีเมล : [email protected]

📬 ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U

📬 อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) ​: สภาองค์กรของผู้บริโภค