เช็กเลย! สิทธิที่ต้องได้ทันที เมื่อบาดเจ็บ – เสียชีวิตจากอุบัติเหตุโดยรถสาธารณะ

ใครเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ หากได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้จากประกันภัยรถภาคบังคับ หรือ “พ.ร.บ.” ได้เลย โดยไม่ต้องสำรองเงินจ่ายก่อน

ประกันภัยรถภาคบังคับ หรือ “พ.ร.บ.” เป็นการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กำหนดให้รถยนต์รวมถึงรถจักรยานยนต์ทุกคัน ทุกชนิดที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทาง ต้องทำประกันภัยภาคบังคับตาม พรบ. นี้ เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน

1. ค่าสินไหมทดแทน จากประกันภัยรถภาคบังคับ หรือ “พ.ร.บ.” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535

– ค่ารักษาพยาบาลตามจริง คุ้มครองสูงสุด 80,000 บ./คน

– ทุพพลภาพ บาดเจ็บ หรือพิการ คุ้มครอง 250,000 – 500,000 บ./คน

– เสียชีวิต กฎหมายจ่ายทันที 500,000 บ./คน (ต้องได้ภายใน 7 วัน)

– ค่าชดเชยรายวัน กรณีนอนรพ. 200 บ./วัน (รวมสูงสุดไม่เกิน 20 วัน)

แต่หากได้รับความเสียหายที่รุนแรง มีอาการบาดเจ็บเกินมูลค่าวงเงินที่กำหนดไว้ สามารถไปใช้สิทธิจากประกันภาคสมัครใจในรถคันที่เกิดเหตุได้

2. หากความเสียหายเกินวงเงินจาก พ.ร.บ. เรียกค่าเสียหายกับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เพิ่มอีกได้

– ค่าทนทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บ

– ทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหาย

– ค่าเสียหายอื่น ๆ เช่น ค่าขาดโอกาสในการทำงาน

– กรณีเสียชีวิต ขั้นต่ำรายละ 500,000 บ. (รายละเอียดขึ้นกับกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทที่รถทำเอาไว้)

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บาดเจ็บทุกรายต้องได้รับการชดเชยค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสม จนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เนื่องจากผู้บริโภคทุกคนมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522

เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารต้องทำอย่างไร?

1. สำรวจสภาพร่างกายและอาการบาดเจ็บ

2. ออกจากรถทันที พร้อมของจำเป็น

3. โทรศัพท์แจ้ง 191 หรือ 1193 หรือโทร 1584

4. ถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุและบริเวณโดยรอบ

5. ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

เอกสารที่ต้องเก็บเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

1. บันทึกประจำวันของตำรวจ (กรณีทรัพย์สินสูญหายหรือเสียหายต้องแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานด้วย)

2. ประวัติการรักษาพยาบาล ใบรับรองแพทย์ ภาพถ่ายอาการบาดเจ็บ และหลักฐานการประเมินการรักษาในอนาคต

3. ใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และการจัดการงานศพ

4. หลักฐานรับรองการทำงาน หรือรับรองรายได้ กรณีขาดรายได้ในระหว่างบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

5. สำเนากรมธรรม์ประกันภัยรถโดยสาร คันเกิดเหตุ

6. หลักฐานการเสียชีวิต ใบมรณบัตร หรือ หนังสือรับรองการเสียชีวิต

7. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้านของทายาทกรณีผู้ประสบเหตุเสียชีวิต

8. ตั๋วโดยสาร

ทั้งนี้ ใครได้รับการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ร้องเรียนกับกรมการขนส่งทางบก เบอร์สายด่วน 1584 หรือสภาผู้บริโภค ได้ที่

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • อีเมล : [email protected]  
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) ​: สภาองค์กรของผู้บริโภค