ยื่น ‘ไม่ต่อใบอนุญาต’ ไทยเวียตเจ็ท ไม่ให้คนพิการบิน

ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวลกว่า 300 คน ยื่นหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมแก้ปัญหาสายการบินไทยเวียตเจ็ทปฏิเสธกลุ่มคนพิการขึ้นเครื่องบิน ชี้ละเมิดสิทธิการเดินทาง – เลือกปฏิบัติและทำให้ไม่ได้รับความสะดวก ด้านคมนาคม เร่งสายการบินชี้แจงใน 7 วัน ก่อนพิจารณาต่อใบอนุญาตประกอบกิจการ

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล พร้อมภาคีต่าง ๆ จำนวนกว่า 300 คน ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อสั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยแก้ไขปัญหาเหตุการณ์สายการบินไทยเวียตเจ็ทไม่ให้คนพิการขึ้นเครื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ  โดยเรียกร้องให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยยกเลิกใบอนุญาตการบินชั่วคราวจนกว่าไทยเวียตเจ็ทจะแก้ไขปัญหาเสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว หากไม่มีอะไรคืบหน้าตัวแทนผู้ร้องเรียนจะใช้มาตรการทางกฎหมายยื่นฟ้องสายการบินไทยเวียตเจ็ททันที ทั้งนี้ เหตุเกิดหลังจากกลุ่มคนพิการหลายรายถูกปฏิเสธจากสายการบินไทยเวียตเจ็ทไม่ให้ขึ้นเครื่องบินมาต่อเนื่องยาวนาน สร้างผลกระทบกับคนพิการในการเดินทาง และสูญเสียเวลาจากการโดนปฏิเสธ รวมถึงเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์และเป็นการเลือกปฏิบัติ ผิดทั้งกฏหมายและหลักการสากลอย่างชัดเจน นอกจากนั้นแล้ว ในวันเดียวกันผู้แทนมูลนิธิและเครือข่ายได้ยื่นหนังสือต่อประรัฐสภาในกรณีนี้อีกด้วย

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล เปิดเผยว่า ปัญหาคนพิการกับการใช้บริการสายการบิน เกิดขึ้นมานานมากกว่า 20 ปี โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มเปิดให้มีธุรกิจสายการบินราคาประหยัด หรือ สายการบินโลว์คอสต์ (Low Cost Airline) เข้ามาให้บริการในไทย ซึ่งพบตั้งแต่ขั้นตอนการจองตั๋วที่ไม่มีช่องให้ระบุความต้องการพิเศษ เช่น การใช้วีลแชร์ การใช้ไม้เท้า จนถึงปัญหาที่ไม่ให้คนพิการขึ้นเครื่องบินหากเดินทางคนเดียว

เหตุการณ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 โดยกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ซึ่งเป็นนักรณรงค์ผู้ใช้รถเข็นด้วยนั้น ถูกสายการบินไทยเวียตเจ็ทปฏิเสธ ไม่ให้เดินทาง ด้วยเหตุผล “ไม่สามารถเดินเองได้” ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการเดินทาง จึงทำให้กลุ่มคนพิการที่เคยได้รับความเดือดร้อนในลักษณะเดียวกันเริ่มออกมาสะท้อนถึงปัญหาที่พบมากยิ่งขึ้นและรวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลออกมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

เป้าหมายของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ มานิตย์ ระบุว่า ภาคีเครือข่ายฯ ต้องการเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมเพิกถอนใบอนุญาตสายการบินไทยเวียตเจ็ท และจัดการเรื่องปัญหานโยบายที่สายการบินอื่น ๆ ที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน ทั้งนี้ สำหรับสายการบินต่าง ๆ มีความคาดหวังว่าทุกสายการบินควรพัฒนาระบบตั้งแต่การจองตั๋ว รวมถึงระหว่างการเดินทางเพื่อรองรับคนพิการหรือผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ให้สามารถใช้สิทธิในการเดินทางได้อย่างเท่าเทียมกัน

“เราไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้จัดการสายการบินไทยเวียตเจ็ทเพียงสายการบินเดียว แต่ต้องการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลได้รับทราบและเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา เพราะเชื่อว่าหากภาครัฐกำกับดูแลอย่างจริงจังแล้ว ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานกว่า 20 ปีได้” ประสานงานภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน สนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์ ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายของกลุ่ม กล่าวว่า การปฏิเสธไม่ให้คนพิการขึ้นเครื่องบินของสายการบินดังกล่าว อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติและทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ อาทิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ระบุไว้ว่า “ห้ามเลือกปฏิบัติแก่คนพิการ” รวมถึงพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ที่สามารถฟ้องร้องดําเนินคดีในทางแพ่งและมีบทกําหนดโทษว่า “การปฏิเสธนั้นเป็นการปฏิเสธที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่เข้าเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อยกเว้นเรื่องความปลอดภัย ก็ไม่สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้” ซึ่งตามกฎหมายมีโทษทั้งจําและปรับตั้งแต่ 50,000 – 500,000 บาท

นอกจากนี้ในประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องการคุ้มครองผู้โดยสาร ได้ระบุถึงสิทธิของคนพิการว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธถ้าเกิดว่าผู้บริโภคได้สำรองตั๋วแล้ว และมีการชำระเงิน รวมถึงยืนยันตัวตน (การเช็กอิน) เว้นแต่ว่าเป็นเหตุผลเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยถึงปฏิเสธได้ตามกฎหมาย”

ขณะที่ สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้รับหนังสือแทนรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนกรณีสายการบินไทยเวียตเจ็ทปฏิเสธกลุ่มคนพิการขึ้นเครื่องบิน ได้มอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เรียกสายการบินไทยเวียตเจ็ทเข้ามาชี้แจงรายละเอียดภายใน 7 วัน พร้อมแนวทางแก้ไขและการปรับปรุงการให้บริการต่อกลุ่มคนพิการและคนทั่วไปอย่างเท่าเทียม แต่ทั้งนี้หากสายการบินไทยเวียตเจ็ทยังคงเมินเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการการบินต่อไป

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค