เร่งปิดช่องว่างทาง กม. อย่าปล่อยผู้กู้สินเชื่อโดนเอาเปรียบ

กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคหลายรายที่เข้าไปทำสัญญาเงินกู้หรือขอสินเชื่อกับบริษัทผู้ให้สินเชื่อโดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน ต้องพบปัญหาทั้งการไม่ได้รับเอกสารคู่สัญญาและเจอกับการถูกบังคับซื้อประกันชีวิตและประกันวินาศภัยพ่วงรวมถึงการเอาเปรียบในรูปแบบต่าง ๆ นั้น

สภาผู้บริโภคได้จัดเวทีแสวงหาความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและพบว่าปัญหาใหญ่ของการที่ผู้กู้โดนเอาเปรียบในครั้งนี้ คือ ช่องว่างของกติกาหรือกฎหมายที่หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อ้างเป็นข้อจำกัดในการแก้ปัญหาให้สิ้นสุดได้ ถึงแม้หน่วยงานจะพยายามออกมาตรการเพื่อให้ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภทเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ไม่สามารถครอบคลุมผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม

ในเวที “แก้ไขปัญหาสินเชื่อที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันโดยไม่จดจำนอง” ที่จัดขึ้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2566 เพื่อติดตามข้อเสนอที่สภาผู้บริโภคส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กำกับดูแลสินเชื่อที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องจดจำนองเช่นเดียวกับการกำกับสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมบังคับคดีเข้าร่วม ได้มีการนำประเด็นข้อปัญหาของผู้บริโภคมาถกอย่างกว้างขวาง

ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค ได้นำเสนอภาพรวมปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้นว่าช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาที่สภาผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาการกู้สินเชื่อต่าง ๆ จำนวนกว่า 50 เรื่อง โดยในจำนวน 27 เรื่องร้องเรียนข้างต้นนั้นเกี่ยวกับสินเชื่อสินเชื่อที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องจดจำนองของบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด ที่มีการทำสัญญาไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนี้ 1) ผู้ขอสินเชื่อไม่ได้รับเอกสารคู่สัญญา โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ อ้างว่าเป็นนโยบายของบริษัท 2) ขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยพ่วง โดยไม่ให้สิทธิผู้บริโภคในการปฏิเสธ 3) คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน 4) ได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนที่ขอสินเชื่อ 5) โฆษณาว่าฟรีค่าธรรมเนียม แต่ยังมีการเรียกเก็บ

6) บริษัทฯ จำกัดการชำระเงินต้น ทำให้ผู้บริโภคต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 7) กำหนดให้ผู้กู้ชำระเงินให้ครบภายใน 12 เดือน หากไม่สามารถชำระได้ จะให้ทำสัญญากู้ใหม่ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอีกครั้ง 8) เมื่อชำระเงินกู้ครบตามสัญญาแล้ว กลับเรียกเก็บค่าประเมินหลักประกัน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วผู้บริโภคเป็นคนขอหนังสือประเมินจากสำนักงานที่ดินด้วยตัวเอง อีกทั้งจากการตรวจสอบพบว่าพนักงานบางสาขาของบริษัทฯ ไม่มีใบอนุญาตขายประกันภัย ทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้บริโภคถูกฟ้องร้องจากบริษัทเหล่านี้ไม่น้อยกว่า 150 คดี โดยเฉพาะผู้บริโภคที่อยู่ในต่างจังหวัด

“การไม่ส่งมอบสัญญาคู่ฉบับเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการต้องส่งมอบสัญญา รวมถึงเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับผู้บริโภคทันทีเมื่อลงนามในสัญญา ไม่ใช่การสร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องติดตามขอรับเอกสารภายหลัง อีกทั้งตามปกติแล้วการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ บริษัทควรจะต้องระบุให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นเรื่องพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลใช้ในการตัดสินใจและเพื่อความโปร่งใส แต่กรณีของบริษัทศรีสวัสดิ์นั้นไม่สามารถสืบค้นข้อมูลได้เลยว่าสรุปแล้วในหน้าเว็บไซต์มีการระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เท่าไร” ธารทิพย์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคได้ช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้ผู้บริโภคได้โฉนดคืน แต่เห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ รวมถึงการที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลสินเชื่อสินเชื่อที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องจดจำนองโดยเฉพาะ ดังนั้นสภาผู้บริโภคจึงได้ส่งข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาเชิงนโยบายไปถึงหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล ได้แก่ สคบ. คปภ. ธปท. และกระทรวงการคลัง เพื่อให้หน่วยงานกำหนดกรอบกฎหมายในการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคพบนั้นไม่ใช่เฉพาะบริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 เท่านั้นที่มีพฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าว แต่เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายบริษัทที่มีพฤติการณ์ทำนองเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน อีกทั้งเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยอันดีของประชาชน

ดังนั้น จึงมีความคาดหวังว่าความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและช่วยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย เพื่อทำให้ผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีข้อมูลความรู้ที่เพียงพอในการเลือกและตัดสินใจใช้สินค้าหรือบริการ รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับการชดเชยเยียวยาหากได้รับความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคเห็นว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายและไม่ได้เป็นอุปสรรคกับภาคธุรกิจ ซึ่งพลังผู้บริโภคที่คอยช่วยกันเป็นหูเป็นตา รายงาน หรือเตือนภัยสินค้าและบริการ ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจมีความเข็มแข็งขึ้นได้และสร้างโอกาสในการแข่งขันกับธุรกิจในต่างประเทศได้อย่างมีมาตรฐาน มีคุณภาพ

“ปัจจุบันเห็นว่าทุกหน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคทราบอย่างต่อเนื่อง และสภาผู้บริโภคเชื่อว่าทุกส่วนทำเต็มที่ แต่การประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะว่าปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากไม่เว้นแต่ละวัน เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าความร่วมมือเพื่อยกระดับให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ และเมื่อมีช่องว่างหรือช่องโหว่ของข้อกฎหมายให้ผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตใช้เป็นประโยชน์ได้ ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องหาทางอุดช่องว่างเหล่านั้นทันที” สารี ระบุ

ด้าน นิตยาภรณ์ วงศ์คำ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากการที่ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเงินกู้และสินเชื่อส่วนบุคคลกว่า 94 เรื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ สคบ. ได้ช่วยเหลือจนเรื่องยุติไปได้แล้ว หลังจากนั้น สคบ. จึงออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีความคาดหวังว่าประกาศดังกล่าวจะช่วยคุ้มครองบริโภคและอุดช่องโหว่ปัญหาด้านสัญญาได้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสินเชื่อที่เกิดจากสถาบันการเงิน ธนาคารที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย หรือบุคคลธรรมดาที่มีการปล่อยสินเชื่อหรือเงินกู้ ซึ่งภายในประกาศฉบับข้างต้นจะมีการกำหนดรายละเอียดเบื้องต้นที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การปิดสัญญาที่ผู้ให้กู้ต้องไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก การคืนหลักประกันภายใน 7 วันนับแต่วันที่ผู้กู้ได้ชำระเงินครบถ้วน การปรับหรือลดดอกเบี้ยต้องแจ้งให้กับผู้กู้ทราบทุกกรณี ผู้ให้กู้ต้องส่งมอบคู่สัญญาให้กับผู้กู้หลังจากทำสัญญาโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นการกู้ผ่านวิธีอิเล็กทรอนิกส์หรือกู้โดยตรงกับบริษัท หรือหากผู้ให้กู้ฝ่าฝืนประกาศฯ ดังกล่าว จะมีโทษจำทั้งปรับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จะมีความผิดอาญามาตรา 51 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค

ส่วนประเด็นที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภคกรณีผ่อนชำระเงินกู้ไม่หมดตามสัญญา ปัจจุบันหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากสภาผู้บริโภคเนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสัญญา สคบ. ได้ขยายผลการสอบสวนไปถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทศรีสวัสดิ์ทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและสรุปสำนวน และจะมีการเปิดโอกาสให้บริษัทได้ชี้แจงและแก้ไขก่อน หากสุดท้ายบริษัทยังไม่ปรับแก้ไขจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

“ปัจจุบันพบปัญหาเรื่องอำนาจของ สคบ. ที่ไม่สามารถดูแลประชาชนได้ทุกกลุ่มตามนิยามคำว่าผู้บริโภค ตามกฎหมายที่กำหนดว่าสัญญาเงินกู้ หรือสินเชื่อต่าง ๆ จะต้องเป็นไปเพื่อการใช้สอยส่วนตัว แต่เมื่อผู้กู้ที่เป็นรายย่อยระบุว่านำไปใช้เพื่อการลงทุนจึงไม่เข้านิยามคำว่าผู้บริโภค

เหตุผลข้างต้นทำให้ผู้ประกอบการอาศัยช่องว่างทางเศรษฐกิจ คิดรูปแบบการปล่อยสินเชื่อและนำมาโฆษณากับกลุ่มประชาชนที่มีการประกอบการแบบรายย่อย ที่อาจเข้าไม่ถึงสินเชื่อทางการของสถาบันการเงิน หรือธนาคารที่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรต้องเร่งออกข้อเสนอหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในระดับนโยบายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น” นิตยาภรณ์ ระบุ

ส่วน ณิชนาฎ ภูลสนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า ธปท. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงการกำกับสินเชื่อที่ต้องนำทะเบียนรถไปจำนำ แต่ไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลสินเชื่อลักษณะอื่น ๆ ของผู้ประกอบการได้ ส่วนสินเชื่อที่จะต้องนำโฉนดไปจำนำที่มีปัญหาด้านข้อสัญญาและการคิดอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่ามีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่แล้วในปัจจุบัน

แต่ทั้งนี้การกำกับสินเชื่อโดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักประกันที่กำลังเกิดปัญหาอยู่ในขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและวิเคราะห์ในระดับนโยบายว่าสินเชื่อดังกล่าวกระทบกับระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศหรือกระทบผู้บริโภคมากน้อยเพียงใดก่อนจึงจะสามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ ขณะเดียวกัน ธปท. กำลังจะเข้าไปกำกับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เนื่องจากได้มีการพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลและพบว่าส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจครัวเรือนของประเทศค่อนข้างมากจึงมีความจำเป็นที่ต้องเข้าไปกำกับดูแลธุรกิจประเภทนี้

เช่นเดียวกับ นลินทิพย์ วณิชศรี เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า จากข้อมูลที่ได้รับมานั้นเห็นว่าในประเด็นการควบคุมสัญญาหรือการเก็บดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมีหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลอยู่แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างประสานงานขอข้อมูลเพื่อนำมาพิจารณาถึงความจำเป็นในการเข้าไปกำกับดูแลผู้ประกอบการที่มีลักษณะการให้บริการสินเชื่อที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันโดยไม่จดจำนองเป็นการเฉพาะ

ขณะที่ พ.ต.ท.อนุชา รัศมี กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความคิดเห็นถึงกรณีที่ผู้บริโภคพบปัญหาการได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนที่ขอสินเชื่อว่า ควรมีการออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลให้ผู้ประกอบการโอนเงินให้กับผู้กู้โดยตรงรวมถึงการออกหลักฐานในการคำนวณดอกเบี้ยร่วมด้วย เพื่อให้มีหลักฐานในการโอนเงินและลดการโต้แย้งในเรื่องจำนวนเงิน เพราะปัจจุบันผู้กู้ไม่มีหลักฐานอยู่กับตัวเองเลย ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการรับเงินหรือคู่สัญญา จึงทำให้ผู้กู้หลายรายได้รับความเสียหายในขณะนี้

พ.ต.ท.อนุชา ระบุว่า การที่พบปัญหาหนี้นอกระบบในปัจจุบันเป็นเพราะว่าผู้กู้หลาย ๆ รายไม่สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อของธนาคารภายใต้กำกับของ ธปท. ที่มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดได้ และเมื่อผู้ประกอบการเห็นจุดอ่อนนี้จึงหาช่องว่างมาเอาเปรียบผู้กู้ อีกทั้งตัวผู้กู้ที่จำเป็นต้องกู้เงิน เมื่อไม่มีหนทางเข้าสู่ระบบสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐ จึงถูกสถานการณ์บีบบังคับจำยอมกู้กับผู้ให้กู้ที่อยู่นอกระบบนั่นเอง จึงเห็นว่าควรต้องมีการหารือในระดับนโยบายระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อทำให้ผู้ที่ต้องการกู้เงินสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐได้และเพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการกู้หนี้ยืมสินนอกระบบอีก

ด้าน เฉลิมชัย บัวจันอัด ผู้ตรวจราชการกรม กรมบังคับคดี กล่าวถึงนโยบายของกรมบังคับคดีเพื่อลดช่วยลูกหนี้และเจ้าหนี้หาแนวทางที่เหมาะสมจากการถูกยึดทรัพย์ว่า ปัจจุบันกรมบังคับคดีมีนโยบายในการนัดเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้ามาไกล่เกลี่ยก่อนที่จะขายทอดตลาด โดยหากลูกหนี้ได้รับหมายศาลที่แจ้งว่าจะถูกยึดทรัพย์ แนะนำให้เข้ามาติดต่อกับศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี ที่มีอยู่ทุกจังหวัดได้ เพื่อขอคำปรึกษา หาทางออกที่เหมาะสม และหายุติข้อพิพาทด้วยความพึงพอใจร่วมกันและยังสามารถรักษาความสัมพันธ์ต่อไปได้

ปิดท้ายที่ จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาผู้บริโภค ให้ความคิดเห็นไว้ว่า หน่วยงานกำกับดูแลควรต้องออกมาตรการหรือพิจารณาพฤติการณ์และการกระทำของผู้ประกอบการมากกว่าการพิจารณาเพียงตัวบุคคลหรือตัวบริษัท เนื่องจากหากหน่วยงานสามารถกำกับดูแลหรือควบคุมพฤติการณ์ที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้ เมื่อผู้ประกอบการมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด การไม่ส่งมอบคู่สัญญา หรือการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทั้งที่ระบุว่าผู้กู้ไม่ต้องชำระ หน่วยงานมีอำนาจในการสั่งให้ผู้ประกอบการปรับแก้ไขจนกว่าจะถูกต้องหรือหากไม่ปรับแก้ไขให้ถูกต้องจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

อีกทั้งหากหน่วยงานพิจารณาเพียงตัวบุคคลหรือบริษัทอย่างเดียว สุดท้ายจะพบว่าอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลจะถูกโยนกันไปมาระหว่างหน่วยงานและจะต้องถกกันอีกไม่จบสิ้นว่าหน่วยงานใดจะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล อีกทั้งยังทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความคุ้มครองและผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตก็ยังสามารถหาช่องทางเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคอยู่ในจุดที่ไม่มีความสามารถต่อรองกับผู้ประกอบการ เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเกี่ยวกับข้อสัญญาของตัวเอง ดังนั้นการมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลผู้ประกอบการจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองได้มากขึ้น

“ถ้าเราไม่พยายามหาต้นตอของปัญหา สุดท้ายเราจะเหนื่อยกับการตามแก้ไขปัญหาที่ไม่จบสิ้นและต้องส่งต่อการแก้ไขปัญหาไปเป็นราย ๆ โยนไปโยนมาระหว่างหน่วยงาน ดังนั้นจึงเห็นว่าความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น เช่น ถ้าพบว่าผู้ประกอบการรายใดแจ้งว่าจะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 แต่ในสัญญาไม่ระบุข้อความใดเลยและเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน

เมื่อหน่วยงานเห็นแล้วว่าผู้ประกอบการมีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดกฎหมายแบบนี้และพยายามหาช่องทางเอาเปรียบผู้บริโภคจะสามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการได้ทันที อีกทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ควรต้องเร่งเข้าไปกำกับดูแลสินเชื่อที่ใช้โฉนดเป็นหลักประกันอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันอาจจะมีผู้เสียหายไม่มากเมื่อเทียบกับสินเชื่ออื่น ๆ แต่เมื่อไรที่กระทบกับเพียงหน่วยเล็ก ๆ ของสังคม และหากไม่มีการจัดการแก้ไข ธุรกิจแบบนี้ก็จะผุดขึ้นมาให้เห็นและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตก็น่าจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน” จิณณะ ระบุ

โดยสรุปในเวทีความร่วมมือการแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันโดยไม่จดจำนอง พบว่า หน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ยังมีข้อจำกัด มีช่องว่างของกติกาหรือกฎหมายอยู่ ที่ถึงแม้หน่วยงานจะพยายามออกมาตรการเพื่อให้ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภทเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม เพราะนิยามคำว่าผู้บริโภคไม่ครอบคลุมถึงผู้บริโภคที่ต้องการกู้เงินเพื่อนำไปลงทุนแบบรายย่อย และการพิจารณาว่าสินเชื่อที่ใช้โฉนดเป็นหลักประกันกระทบกับเศรษฐกิจสังคมมากน้อยเพียงใดที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปควบคุม รวมถึงการที่ผู้บริโภคหลายรายเข้าไม่ถึงสินเชื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ เนื่องจากฎเกณฑ์ที่มีความรัดกุมและเข้มข้น จนทำให้ต้องไปพึ่งพาสินเชื่อจากผู้ประกอบการที่บางรายอาจไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐ ด้วยสาเหตุข้างต้นเหล่านี้อาจทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สภาผู้บริโภคจะกลับไปวิเคราะห์และพิจารณาช่องว่างในการกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภคอีกครั้ง ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรีตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ต่อไป อีกทั้งคาดว่าสภาผู้บริโภคจะมีหารือและสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อร่วมกันยกระดับสินค้าและบริการ และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค