ร้อยเล่ห์ กลลวงมิจฉาชีพ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน !

 “สวัสดีค่ะคุณคือผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่แค่แอดไลน์” หรือจะเป็น “สวัสดีค่ะ ติดต่อจากบริษัทขนส่ง คุณได้ส่งพัสดุผิดกฎหมายหากต้องการติดต่อเจ้าหน้าที่ กด 1”

เชื่อเลยว่าคนที่กำลังอ่านเรื่องนี้อยู่คงเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับข้อความสั้นที่ส่งมาหลอกลวง (SMS หลอกลวง) หลอกให้คลิกลิงก์ หลอกให้แอดไลน์ หรือการรับเบอร์โทรแปลก ๆ จากกลุ่มคนที่เราเรียกกันว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทั้งอ้างว่ามีพัสดุตกค้าง ทั้งอ้างว่าเราทำผิดกฎหมายบ้าง ถ้าหากเผลอคลิกลิงก์ หรือเผลอคุยไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหลอกสูญเงินได้ …

เห็นได้ว่าทุกวันนี้มิจฉาชีพมีเข้ามาทุกรูปแบบ ทุกช่องทาง นั่งอยู่ที่บ้านเฉยๆ ก็อาจสูญเงินได้ ดังนั้น สภาผู้บริโภคได้รวบรวมกลโกงจากกรณีข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเตือนภัยและเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพื่อใช้รับมือกับภัยเหล่านี้จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ


รูปแบบที่ใช้ในการล่อลวง

หลอกทำงานออนไลน์

ชักชวนทำงานออนไลน์ อ้างแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Shopee Lazada TikTok โดยหลอกลวงให้ กดไลค์ กดแชร์ แกล้งรับออเดอร์ หรือทำภารกิจ อ้างผลตอบแทนดี สุดท้ายสร้างเงื่อนไขให้เหยื่อโอนเงินเพิ่ม

หากผู้บริโภคเจอแบบนี้อย่าหลงเชื่อลักษณะเช่นนี้ เช่น การรับสมัครงานที่ต้องทำภารกิจออนไลน์ในลักษณะที่ข้อเสนอที่ฟังดูดี ยกตัวอย่างเช่น แค่คุณขยันทําทุกวันก็ได้เงิน ให้ผลตอบแทนสูง ทำง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการให้โอนเงินไปก่อน ให้ควรระวัง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงไม่โอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา และควรตรวจสอบเลขบัญชีโดยนำชื่อ – นามสกุล หรือเลขบัญชีธนาคาร ค้นหาในเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ หรือเว็บไซต์ https://www.chaladohn.com/ และสุดท้ายหากต้องการจะทำงานจริง ๆ แนะนำให้ผู้บริโภคดูข้อมูลหรือประกาศรับสมัครงานที่มีการประกาศผ่านช่องทางออฟฟิเชียลของบริษัทหรือผ่านช่องทางของกรมการจัดหางานเท่านั้น

หลอกเงินกู้ออนไลน์

ใช้คำโฆษณาชวนเชื่อ กู้เงินด่วนให้วงเงินสูง ดอกเบี้ยน้อย กู้ง่ายได้เงินเร็ว ไม่ต้องค้ำประกัน หากติดต่อไปมิจฉาชีพจะขอเอกสารส่วนตัว แล้วอ้างว่าอนุมัติเงินกู้ แต่จะสร้างเงื่อนไขให้โอนค่าดอกเบี้ยก่อน สุดท้ายเสียทั้งเงินและข้อมูลส่วนตัว

เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ! คำโฆษณาชวนเชื่อที่เอาผลตอบแทนดี ๆ มาล่อ หากต้องการกู้เงินควรกู้เงินจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สามารถเช็กได้ที่ เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/th/involve-party-license-loan.html  มีทั้งสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาต และ Non-bank ที่ได้รับอนุญาต และเพื่อไม่ให้ใครตกเป็นเหยื่อ ถ้าพบเบาะแส สามารถติดต่อ ศปอส.ตร. (ตำรวจ PCT) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 1599 หรือกรอกข้อมูลที่ต้องการแจ้งผ่านเว็บไซต์ pct.police.go.th  และหากถูกหลอกเอาเงินไปแล้ว จะต้องทำอะไรบ้าง
1. เก็บรวบรวมหลักฐานทุกอย่าง ทั้งบทสนทนาที่คุยกับคนร้าย, ชื่อเว็บไซต์-แอปพลิเคชัน, หลักฐานการโอนเงิน, สมุดบัญชีธนาคาร รวมทั้งเตรียมสำเนาบัตรประชาชนของตัวเองไว้ด้วย 2. แจ้งความ นำหลักฐานเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ คือ เราโอนเงินที่ไหนให้ไปแจ้งความที่เขตนั้น ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้ว่าโดนหลอก โดยบอกกับพนักงานสอบสวนว่า “ประสงค์ขอแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย” ไม่ใช่แค่ขอลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน
และ 3. ติดต่อธนาคาร โดยนำเอกสารการแจ้งความ รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ติดต่อไปยังให้ธนาคารเพื่อแจ้งอายัดยอดเงินในบัญชีของมิจฉาชีพ

ปลอม หรือ แฮ็ก บัญชี ไลน์ / เฟซบุ๊ก

มิจฉาชีพจะใช้วิธีปลอมหรือแฮ็กบัญชีอาจจะเป็นไลน์หรือเฟซบุ๊ก แล้วมาหลอกทักยืมเงินเพื่อนหรือคนรู้จักเจ้าของบัญชี

เมื่อเพื่อนเดือดร้อนเราพร้อมช่วยเหลือ แต่ ๆ ควรตรวจสอบให้ดีก่อนว่าใช่เพื่อนเราหรือไม่ อาจกลายเป็นการช่วยเหลือผิดคน ควรโทรเช็กกับเพื่อนให้ชัวร์ หากเช็กแล้วไม่ใช่ รีบแจ้งเพื่อนว่าบัญชีโดนแฮ็ก และควรเปลี่ยนรหัส Social Media ทันที


ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว

มิจฉาชีพลักษณะนี้จะมาในรูปแบบที่อ้างตัวเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ข่มขู่เรื่องกระทำผิดกฎหมาย สร้างสถานการณ์ให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนก

ขอให้ผู้บริโภค ตั้งสติ อย่าตกใจ ไม่เชื่อ ไม่โอน ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว หากไม่แน่ใจ ควรรีบหยุดการสนทนา โดยการวางสายเลย หากไม่แน่ใจให้โทรถามกับหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง

หลอกให้กดลิงก์   

ใช้ลิงก์หลอกลวงเพื่อให้ติดตั้งมัลแวร์ตัวร้ายที่สามารถขโมยข้อมูลต่าง ๆ และสามารถโอนเงินออกไปจากบัญชีได้โดยที่เราไม่ได้ทำธุรกรรมเอง

วิธีป้องกันง่าย ๆ อย่าคลิกลิงก์ หรือดาวน์โหลดไฟล์จากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักหรือน่าสงสัยเด็ดขาด แต่หากสงสัยลิงก์ดังกล่าวสามารถเช็กได้ เช่น นำลิงก์ไปวางในเว็บไซต์ https://checkshorturl.com/ ก็จะทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าเว็บไซต์นั้นเกี่ยวกับอะไร มีชื่อลิงค์แบบเต็มว่าอย่างไร แต่ทางที่ดีอย่าคลิกลิงก์จากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักเด็ดขาด

หลอกให้รางวัลใหญ่

หลอกลวงด้วยเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ผู้โชคดีได้รับรางวัล ได้ซื้อสินค้าราคาพิเศษ ได้สิทธิ์พิเศษต่าง ๆ เป็นต้น แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมก่อนล่วงหน้าก่อน เมื่อเหยื่อโอนเงินแล้วจะบล็อก ไม่สามารถติดต่อคนร้ายได้…

หากพบเจอข้อความที่ชักชวนให้เล่นกิจกรรมลุ้นรับของรางวัล อย่าหลงเชื่อควรดูความน่าเชื่อถือของผู้จัดกิจกรรมก่อน และอย่าเพิ่งรีบให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

หลอกเปิดบัญชีม้า

อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหลอกลวงประชาชนเพื่อขอข้อมูลส่วนตัวไปเปิดบัญชี โดยอ้างว่าจะนำเป็นหลักฐานไปใช้ในการทำสวัสดิการต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐ หรืออ้างค่าตอบแทนแลกกับการเปิดบัญชี

หากผู้บริโภคท่านใดรู้ตัวว่าถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า ให้รีบโทร. ไปที่ศูนย์แจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพธนาคารที่ท่านมีบัญชีอยู่เพื่อระงับบัญชีทันที

หลอกให้รักแล้วโอนเงิน      

ปลอมแปลงโปรไฟล์เป็นบุคคลหน้าตาดี เข้ามาทำความรู้จัก ทำทีจะส่งทรัพย์สินมาให้จากต่างประเทศ ให้โอนเงินค่าภาษี โดยอ้างว่าจะคืนให้หลายเท่าตัว หรืออ้างขอความช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล ให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นมิจฉาชีพ

เตือนผู้บริโภคหากพูดคุยกับคนแปลกหน้าออนไลน์ ควรตรวจสอบข้อมูลของบุคคลดังกล่าวเสียก่อนว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ อาจตรวจสอบจากรูปโปรไฟล์ โดยการสืบค้นดูว่ามีภาพปรากฏอยู่ที่ใดบ้างหรือไม่ การสืบค้นรูปภาพสามารถใช้บริการของกูเกิลได้ทาง https://images.google.com


จากรูปแบบกลโกงที่มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน สภาผู้บริโภคมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง ควรมีมาตรการที่เข้มงวดในการจัดการปัญหานอกจากการออกแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตาม เพราะการออกแนวทางป้องกันแต่ไม่มีมาตรการที่จะจัดการอย่างจริงจังกับกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับความเสี่ยงและสร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องคอยระวังตัวเอง เช่น การต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบล็อกเบอร์โทรศัพท์ การเตือนภัยระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง การต้องมาตรวจสอบบัญชีมิจฉาชีพ ซึ่งบางวิธีอาจยากสำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้บริโภคที่เข้าไม่ถึงข้อมูลในโซเชียลมีเดีย

แต่ทั้งนี้หากหลงกลมิจฉาชีพไปแล้ว ผู้บริโภคต้องรีบรวบรวมหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการร้องเรียน
            1. สำเนาบัตรประชาชนพร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง
            2. หลักฐานแสดงความเสียหาย เช่น สลิปการโอนฝากเงินลงทุน บัญชีของมิจฉาชีพ เป็นต้น
            3. หลักฐานประกอบอื่น ๆ เช่น เขียนรายงานอธิบายเหตุการณ์ที่เกิด ภาพแคปช่องแชทบทสนทนากับมิจฉาชีพและข้อมูลอื่น ๆ ที่ผู้ร้องเห็นว่าสามารถใช้เป็นหลักฐานแนบได้ เป็นต้น

            และสามารถแจ้งดำเนินคดีได้กับสถานีตำรวจในพื้นที่และแจ้งตำรวจไซเบอร์ได้ทางเว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com/ หรือโทร 1441 หรือโทรแจ้งธนาคารอายัดบัญชี หรือหากไม่มีความคืบหน้าสามารถร้องเรียนเข้ามายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่าง เพื่อให้สภาผู้บริโภคประสานเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคต่อไป

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 3215 หรือ 081 134 3216

ทั้งนี้สภาผู้บริโภคได้รวบรวมข่าวผู้บริโภคที่โดนมิจฉาชีพหลอกในแต่ละรูปแบบ โดยผู้บริโภคสามารถศึกษากรณีตัวอย่างได้ที่ รวมข่าวมิจฉาชีพ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค

อ้างอิง

กลโกงมิจฉาชีพ ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์

ระวังมิจฉาชีพหลอกกู้เงิน แนะวิธีเช็กชื่อแหล่งเงินกู้ที่ได้รับอนุญาต

Romance Scam ไม่รักไม่ว่า แต่อย่ามาหลอกกัน

5 เทคนิคจับผิดลิงค์อันตรายที่มิจฉาชีพออนไลน์ใช้กัน