พรรคการเมืองหนุนเบรกดีลควบรวม ทรู – ดีแทค

‘สุภิญญา’ ฟันธง การควบรวมกิจการโทรคมนาคม ทรู – ดีแทคจะจบลงที่ศาลปกครอง จี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อย่าทำให้สังคมผิดหวัง ขณะที่ ตัวแทนพรรคก้าวไกล ประกาศจุดยืนค้านสุดลิ่ม หวั่นทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้น 20% ซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพ

วันนี้ (25 พฤษภาคม 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ Consumers Forum EP.2 : “Public Policy & Telecom Mergers: Ramifications on Competition and Consumers Protection : นโยบายสาธารณะกับปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม” เพื่อชวนผู้บริโภคมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในประเด็นการควบรวมกิจการ ที่ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้บริการค่ายมือถือในประเทศไทย จาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย และจะมีส่วนแบ่งตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยถึงร้อยละ 52 ถือเป็นการผูกขาดหรือไม่ และผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

ในเวทีเสวนามี สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล พิชัย นริพทะพันธุ์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย และ นพ.ระวี มาศฉมาดล ตัวแทนจากพรรคพลังธรรมใหม่ ร่วมเสวนาถึงผลกระทบต่อประเทศ และนโยบายพรรคการเมืองต่อปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม

สุภิญญา ให้มุมมองจากประสบการณ์กรณีที่ DTAC (ดีแทค) ออกมาประกาศควบรวมกิจการโทรคมนาคมกับ TRUE (ทรู) เขาเชื่อว่า เรื่องนี้จะจบลงที่ศาลปกครองและกินเวลายาวนาน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะฟ้องใคร ฉะนั้น จึงขอให้กำลังใจ กสทช. ชุดใหม่ทำงานอย่างเข้มแข็ง กล้าหาญ โปร่งใส และตรงไปตรงมา 

“กสทช. ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ควรทำให้สังคมผิดหวัง เพราะสังคมลงทุนสร้าง กสทช. ให้มีอิสระ มีงบประมาณ มีสวัสดิการดี หากคุณยืนธงไม่มีอำนาจ จึงเป็นเรื่องรับไม่ได้ ” ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ อ้างถึงกรณีที่ กสทช.ชุดที่แล้ว อ้างว่าคณะกรรมการไม่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมกิจการของ 2 บริษัทโทรคมนาคม

ขณะที่ สารี กล่าวว่า การควบรวมทรู – ดีแทคนั้น ขัดกับกฎหมาย 3 ฉบับ ทั้งกฎหมาย กสทช. กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ฉะนั้น สิ่งที่ สอบ.จะขับเคลื่อนต่อไป คือ การให้ความคิดเห็นในเวที กสทช. อีกรอบหนึ่ง และหวังว่า กสทช.จะใช้ข้อมูลทั้งหมดตัดสินใจอย่างรอบคอบ

ในความเห็นของตัวแทนพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ดร.สามารถ ให้ข้อมูลถึงกรณีการควบรวมทรู – ดีแทค จะทำให้ดัชนีการกระจุกตัว (Herfindhal-Hirschman Index : HHI) สูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน คือ 2,500 และส่งผลให้การแข่งขันลดลงจริงหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า ค่าดัชนี HHI ปัจจุบันอยู่ที่ 3,575 ซึ่งเกินค่ามาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้น เห็นว่า ดีลครั้งนี้จะไม่ทำให้การแข่งขันลดลง ทางกลับกันจะเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีตลอดเวลา ผลประโยชน์ตกกับผู้บริโภค คุณภาพสัญญาณดีขึ้น มีศูนย์บริการเพิ่มขึ้น 

“การควบรวมทรู – ดีแทค จะทำให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถใกล้เคียงกัน มีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม กสทช.ต้องเร่งออกระเบียบให้ผู้ประกอบการทุกราย ทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) และธุรกิจที่ใช้ความสามารถของแอปพลิเคชัน ผนวกเข้ากับการใช้ช่องทางการสื่อสารในธุรกิจโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมกระจายเสียงแพร่ภาพ อาทิ ไลน์ เฟซบุ๊ก (OTT) ให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม เสียภาษีเหมือนกัน ไม่ปล่อยให้มีการขนรายได้จำนวนมากกลับประเทศของตน โดยไม่เสียภาษีให้รัฐบาลไทยดังปัจจุบัน” ดร.สามารถ แสดงความเห็น

ขณะที่ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย พิชัย กล่าวว่า มติพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค ด้วยมองว่า จะสร้างปัญหาให้กับประเทศในหลาย ๆ เรื่อง เพราะการเหลือผู้เล่นในตลาดน้อยราย จะทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคได้รับผลกระทบแน่นอน อย่างไรก็ตาม พรรคไม่เห็นด้วยกับการผูกขาดในทุกธุรกิจ การมีผู้ประกอบการมากรายเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์มากกว่า ซึ่งการมีอิทธิพลมากเกินไปจะไปกีดกันผู้ประกอบการใหม่ ๆ ไม่ให้เติบโต 

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของ กสทช. ชุดที่แล้ว ที่เปลี่ยนกฎจากการขออนุญาตควบรวมกิจการ เป็นแจ้งให้ทราบ ว่าแปลกประหลาด เนื่องจาก กสทช.ไม่มีสิทธิไปห้ามการควบรวมหรือไม่ควบรวมกิจการ ถือเป็นการลดอำนาจตัวเอง จึงตั้งคำถามว่า รับใบสั่งมาหรือไม่ถึงออกประกาศมาแบบนี้ 

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลสามารถหยุดยั้งดีลเรื่องนี้ได้ ขอให้ทำจริงจังไม่ต้องเกรงใจเจ้าสัว เรายังมีทางเลือกอื่น ๆ เช่น รัฐอาจเปิดเสรีให้ผู้ให้บริการค่ายมือถือที่อยู่ในต่างประเทศเข้ามา หรืออาจให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) เข้ามาซื้อกิจการ โดยร่วมกับผู้ให้บริการค่ายมือถือที่อยู่ต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญก็ได้” พิชัย ระบุ

ในส่วนของพรรคก้าวไกล ศิริกัญญา กล่าวถึงจุดยืนที่คัดค้านไม่ต้องการให้ดีลควบรวมกิจการนี้เกิดขึ้น โดยเชื่อว่า ตลาดที่เสรีและเป็นธรรมจะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคได้เอง ดังนั้น ผู้กำกับดูแลต้องคิดถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก การควบรวมนี้จะเกิดการกระจุกตัว เหลือผู้ให้บริการค่ายมือถือเพียง 2 ราย ซึ่งที่ผ่านมา มีผลการศึกษา พบว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคมจะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่ ลูกค้าที่เป็นบริษัทก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย กลายเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการเช่นกัน

ทั้งนี้ ศิริกัญญา ตั้งข้อสังเกตุกรณีการควบรวมทรู – ดีแทค ว่า กสทช. ได้ตั้งที่ปรึกษาอิสระขึ้นมา เป็นบริษัทหลักทรัพย์ ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนโยบายสาธารณะและการแข่งขันทางการค้าเลย ดังนั้น จึงต้องการฝากผีฝากไข้ไว้กับ กสทช.ชุดใหม่ ขณะเดียวกัน การบ้านที่ต้องทำต่อจากนี้ คือ การแก้ไขกฎระเบียบ แก้ไขกฎหมาย รวมถึงการสร้างความเข้าใจ สร้างความตื่นตัวของผู้บริโภค ว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ผู้บริโภคกลับตื่นตัวต่อประเด็นนี้น้อยมาก

สุดท้าย นพ.ระวี พรรคพลังธรรมใหม่ แสดงความเห็นด้วยกับการส่งเสริมการค้าเสรีที่เป็นธรรม พร้อมยืนยันว่า ปลาเล็กต้องไม่กินปลาใหญ่ ปลาทุกตัวต้องอยู่ร่วมกันในบ่อน้ำของประเทศไทยได้ ซึ่งข้อดีของการควบรวมทรู – ดีแทค แม้จะทำให้ธุรกิจนี้มีต้นทุนต่ำลง มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทำธุรกิจสู้กับต่างชาติได้ แต่โจทย์ คือ ราคาค่าบริการจะถูกลงหรือไม่ ขณะที่ ข้อเสียของการควบรวมดังกล่าวมีสัญญาณอันตรายจะเกิดการผูกขาด การแข่งขันจะไม่เสรี การแข่งขันน้อยลง และเป็นอุปสรรคต่อลูกค้ารายใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมของไทย

“หลักการเรื่องนี้เราเห็นว่ารัฐบาลไทยต้องมีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตเรื่องการควบรวม รัฐต้องกำกับดูแลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ผมไม่เห็นด้วยต่อการควบรวมกิจการครั้งนี้ เร็ว ๆ นี้ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง True และ Dtac และการค้าปลีก-ค้าส่ง มีมติจะส่งข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอ อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ พร้อมขอให้ศึกษาและพิจารณาข้อดีข้อเสียให้รอบคอบ รอบด้านก่อน พร้อมกันนี้ คาดหวัง กสทช.ชุดใหม่ด้วยว่า การพิจารณาดีลนี้จะไม่จบลงแบบมวยล้มต้มคนดู” นพ.ระวี ระบุ

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นในกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กับ กสทช. ได้ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 คลิกที่ลิงก์ https://bit.ly/3lH6l3P

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค