สินค้าสวมสิทธิ์ ความเสี่ยงที่ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า อุตสาหกรรมในไทยเกือบ 3,000 แห่ง อาจเข้าข่ายดำเนินธุรกิจในลักษณะ “ซื้อมา – ขายไป” หรือเป็นเพียง โรงงานแปรรูปเบื้องต้น ซึ่งบางส่วนเสี่ยงต่อการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าจากจีน โดยที่ประเทศไทยเริ่มถูกใช้เป็น “ทางผ่าน” ในห่วงโซ่อุปทานมากกว่าจะเป็น “ผู้ผลิต” จริงจัง

ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับสินค้าสวมสิทธิ์?

ข้อมูลจาก SCB EIC ชี้ให้เห็นด้วยว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยในช่วงปี 2563 – 2567 ขยายตัวเฉลี่ยถึง 10% ต่อปี สูงกว่าการเติบโตของ GDP และการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนการนำเข้าต่อ GDP พุ่งถึง 53% ในปี 2567 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี โดยเฉพาะจีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และทำให้ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการระบายสินค้าส่วนเกินจากจีน โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ ช่องทางยอดนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าสวมสิทธิ์เหล่านี้ แม้จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าราคาถูกและหลากหลาย แต่ก็มี ผลกระทบโดยตรง ต่อผู้บริโภค ดังนี้

  • สินค้านำเข้าจำนวนมาก ขาดข้อมูลภาษาไทย และบางครั้ง ไม่มีเลขจดแจ้ง อย. หรือสัญลักษณ์ มอก. ที่ถูกต้อง
  • ผู้บริโภคบางส่วน ไม่สามารถร้องเรียนได้ หากเกิดปัญหา เพราะไม่รู้แหล่งที่มาของสินค้า
  • หากสินค้าละเมิดสิทธิผู้บริโภค (เช่น ปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า หรือคุณภาพไม่ตรงปก) ก็อาจไม่สามารถขอคืนเงินหรือเยียวยาได้
  • สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอาจเป็น อันตรายต่อสุขภาพ เช่น สารเคมีปนเปื้อนในของใช้ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้รับรองความปลอดภัย
  • การใช้งานสินค้าราคาถูกแต่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้ต้อง เปลี่ยนหรือซ่อมแซมบ่อย กลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ช่องทางซื้อสินค้า ยิ่งสะดวก ยิ่งต้องระวัง

ในปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าหลากหลายช่องทาง โดยแต่ละช่องทางมีความเสี่ยงที่ต้องระวังแตกต่างกัน ที่สำคัญช่องทางที่สามารถซื้อสินค้าได้สะดวก รวดเร็วเท่าไหร่ ยิ่งต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และเป็นช่องทางให้สินค้าสวมสิทธิ์เข้าถึงผู้บริโภคโดยไม่มีการตรวจสอบ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนในไทย

ร้านค้าโซเชียลมีเดีย หรือไลฟ์สดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ มีสินค้าจำนวนมากไม่มีฉลากภาษาไทย และมักโฆษณาเกินจริง รวมไปถึงตัวแทนนำเข้ารายย่อยที่ไม่มีการจดทะเบียน จำหน่ายสินค้าสวมสิทธิ์ ลักลอบนำเข้า สินค้าหมดอายุ ไม่มีใบเสร็จรับเงิน และไม่รับประกันสินค้า

SCB EIC เตือนว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมที่เน้นซื้อมา – ขายไป ไม่เพียงส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แต่ยังทำให้เกิดสินค้าคุณภาพต่ำปะปนในตลาด โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นเป้าหมายของมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก แผงวงจร อะลูมิเนียม

ล่าสุด เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้เข้าจับกุมโกดังจัดเก็บผลิตภัณฑ์อันตรายที่ใช้ในครัวเรือน ยี่ห้อ SEAWAYS ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า, ทำความสะอาดพื้น, ขจัดคราบสกปรก, ทำความสะอาดอเนกประสงค์ และเครื่องสำอางไม่มีเลขจดแจ้ง กว่า 4 แสนชิ้น มูลค่า 20 ล้านบาท ของนายทุนชาวจีน เป็นโรงงานบรรจุสินค้าเพื่อส่งให้ลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การจับกุมครั้งนี้ เนื่องจากมีเหตุการณ์เสียชีวิตของแรงงานต่างด้าวในโรงงานจากการสูดดมสารพิษดังกล่าว ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าหากไม่มีการคัดกรองที่เข้มข้น จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝั่งผู้นำเข้าและฝั่งผู้บริโภค ประเทศไทยอาจกลายเป็นเพียง “ประเทศทางผ่าน” ในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยที่คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคถดถอยอย่างต่อเนื่อง

ผู้บริโภคควรรู้สิทธิของตนเอง และหากพบว่าสินค้าหรือบริการที่ซื้อมาไม่ปลอดภัย โฆษณาเกินจริง หรือไม่มีฉลากตามกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สภาผู้บริโภค โทร 1502 หรือผ่านเว็บไซต์สภาผู้บริโภค เพราะสิทธิผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องไกลตัว และการคุ้มครองตัวเองเริ่มต้นจากการรู้เท่าทัน