“บัตรทอง” กลไกสำคัญ ลดความเหลื่อมล้ำ สุขภาพคนไทย

“บัตรทอง” กลไกสำคัญ ลดความเหลื่อมล้ำ สุขภาพคนไทย

บัตรทองคือสิทธิที่ช่วยคนไทยเข้าถึงการรักษาได้ โดยไม่ต้องกลัวค่ารักษา แม้ยังมีปัญหา แต่บัตรทองคือกลไกสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สภาผู้บริโภคเสนอ ควรพัฒนาทุกกองทุนมาตรฐานเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรมด้านสุขภาพอย่างแท้จริง

การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้ หนึ่งในกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนหลักประกันนี้คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 

ตลอดเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา บัตรทองได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเสาหลักที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวนมาก หลายชีวิตรอดพ้นจากโรคร้ายแรง และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้เพราะมีบัตรทอง

แม้แต่รายงานผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล บัตรทอง ก็มักเป็นนโยบายที่ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนอย่างดีมาโดยตลอด 

แม้มีปัญหา แต่บัตรทองยังคงเป็นหัวใจสำคัญ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา ระบบบัตรทองยังคงมีปัญหาและความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความแออัดในสถานพยาบาล การรอคอยที่ยาวนาน การเข้าถึงบริการเฉพาะทางที่อาจไม่ราบรื่น หรือภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง

แม้ว่า จะมีปัญหาเหล่านี้ สิทธิบัตรทองก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้คนไทยทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเปราะบาง สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้จริง โดยปราศจากความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ระบบนี้ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เรื่องราวความสำเร็จของผู้ที่หายจากโรคร้ายด้วยสิทธิบัตรทองมีให้เห็นอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือฉายแสงอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคไตวายเรื้อรัง ที่ต้องรับยาเป็นประจำหรือฟอกไต ก็ล้วนพึ่งพิงบัตรทองในการดำรงชีวิต

โรคทั้งหมดนี้ หากต้องจ่ายเองทั้งหมด ค่าใช้จ่ายอาจพุ่งไปถึงหลักล้านบาท ทำให้คนทั่วไปไม่มีทางสู้ไหว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะมีบัตรทองที่ช่วยลดอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้

 “ถ้าไม่มีบัตรทอง คงต้องเสียเงินจำนวนมาก เพราะค่ารักษามีราคาสูง” นี่คือเสียงสะท้อนบางส่วนจากประชาชนที่ได้ใช้สิทธิบัตรทองผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

กรณีผู้ป่วยที่ได้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า โดยใช้สิทธิบัตรทองที่ตัวผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายเพียง 30 บาท ตลอดการรักษา แสดงให้เห็นว่าการบัตรทองคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ได้รับโอกาสการรักษา ตามรายงานของกรมการแพทย์ 2561 พบว่า โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอีกหนึ่งในโรคที่คนไทยต้องพบเจอกว่า 6 ล้านคน หรือราว 9% ของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมสูงถึง 34-45% แต่การผ่าตัดรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีราคาที่ค่อนข้างสูง เป็นหนึ่งในความกังวลที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่รับการรักษา

แต่ที่สุดนั้น ผู้ป่วยรายดังกล่าว ก็เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเพียง 30 บาทจากสิทธิบัตรทอง 

“สิทธิบัตรทองช่วยให้เข้าถึงบริการได้ทั่วถึงและป้องกันการล้มละลายจากการรักษาพยาบาล”

ธนพล ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อโลกไตแห่งประเทศไทย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เสริมประเด็น “การเพิ่มโอกาสในการรักษา” จากบัตรทองบนเวทีอภิปราย “มองอนาคตสิทธิบัตรทองของคนไทย : ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา

แม้เขาจะตั้งข้อสังเกตถึง ข้อจำกัดของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการเข้าถึงยาและนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคหายาก เนื่องจากยาบางตัวมีในประเทศแต่ไม่อยู่ในบัญชียาหลัก ทำให้เข้าไม่ถึงยาที่จำเป็น แต่เรื่องราวเหล่านี้ยืนยันว่า บัตรทองไม่ได้เป็นเพียงสวัสดิการ แต่คือ เส้นด้ายแห่งชีวิต ที่ช่วยให้คนไทยจำนวนมากมีโอกาสที่จะสู้กับโรคภัยไข้เจ็บและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ การเพิ่มจำนวนและกระจายบุคลากรทางการแพทย์อย่างเหมาะสม และรัฐบาลต้องตระหนักว่าการดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่อาจละเลยได้ และต้อง ทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ

ผลกระทบที่เกิด หากกองทุนบัตรทองล่มสลาย

ถึงบัตรทองจะมีคุณูปการต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ แต่เส้นทางของ 30 บาทรักษาทุกโรค กลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะความเสี่ยงหลักๆ ของกองทุนคือ ปัญหาการบริหารจัดการงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง รวมถึง การจัดสรรงบประมาณอาจไม่สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายจริงของหน่วยบริการแต่ละแห่ง ทำให้เกิดความไม่สมดุลในการให้บริการ

จากข้อมูลสิทธิหลักประกันสุขภาพ ในประเทศไทย พบว่า จำนวนประชากรที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ 67 ล้านคน เป็นสิทธิบัตรทอง 47 ล้านคน หากเกิดสถานการณ์กองทุนนี้ล่มสลาย หรือไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ จะเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนโดยตรงถึง 47 ล้านคน

ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุด คือ หมดสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลฟรี ผู้คนนับสิบล้านคนที่เคยใช้สิทธิบัตรทองจะต้อง จ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด ตั้งแต่ค่าพบแพทย์ ค่ายา ค่าผ่าตัด ซึ่งสำหรับหลาย ๆ คนแล้ว ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจสูงเกินกว่าที่จะรับไหว ทำให้ต้องเลือกระหว่างการรักษาตัวกับการดำรงชีวิต

อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายเมื่อเจ็บป่วยหนักหรือเป็นโรคเรื้อรัง อาจพุ่งสูงถึงหลักแสนหรือหลักล้านบาท ทำให้หลายครัวเรือนอาจเกิดภาระหนี้สิน เพื่อนำเงินมารักษาตัว และการไม่มีบัตรทองจะยิ่งตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงปัญหาสาธารณสุขในภาพรวม เมื่อประชาชนไม่ได้รับการตรวจรักษาโรคติดเชื้อตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือไม่สามารถเข้าถึงยาได้ การควบคุมโรคติดต่อในชุมชนก็จะทำได้ยากขึ้น อาจเกิด การแพร่ระบาดของโรค ที่รุนแรงกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั้งประเทศ

บริการสุขภาพมาตรฐานเดียว ทลายกำแพงความเหลื่อมล้ำ

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวในเวทีอภิปรายว่า สิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพควรมี มาตรฐานเดียวทุกกองทุน โดยเสนอให้ใช้กลไกตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งระบุให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพตามมาตรฐานเดียวกัน แม้จะอยู่ภายใต้กองทุนต่างกัน เช่น บัตรทอง หรือประกันสังคม

“ประชาชนไม่ควรถูกจำกัดด้วยคำว่า ‘บัตรทอง’ หรือ ‘ประกันสังคม’ แต่ต้องได้รับการดูแลโดยใช้ ‘บัตรประชาชนใบเดียว’ กองทุนสุขภาพไม่จำเป็นต้องรวมกัน แต่ต้องมีมาตรฐานเดียวกันและไม่ซ้ำซ้อน”

แม้งบประมาณจะเป็นประเด็นสำคัญ แต่สุภาพรเน้นย้ำว่า รัฐควรพิจารณาจัดสรรโดยมองภาพรวมของทั้ง 3 ระบบหลัก เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมด้านคุณภาพบริการอย่างแท้จริง

ข้อเสนอเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างยั่งยืน

สภาผู้บริโภค เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงบริการสุขภาพ ที่ผ่านมาจึงได้ยื่นข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 มาตรการหลัก ที่ครอบคลุมทั้งการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในระยะเร่งด่วน สภาผู้บริโภคเสนอให้แก้ไขปัญหาคอขวดที่บั่นทอนประสิทธิภาพของบัตรทอง เริ่มจาก การปรับปรุงระบบคลินิกปฐมภูมิ โดยเร่งรัดให้ สปสช. ร่วมกับหน่วยบริการและคลินิกชุมชนอบอุ่น กำหนดกติกาการส่งต่อผู้ป่วยให้ชัดเจน พร้อมออกแบบระบบการจ่ายเงินที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและคุณภาพบริการแก่ประชาชน

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการ สื่อสารนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ให้ชัดเจนและตรงจุด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ควรแจ้งสถานที่ที่ประชาชนสามารถรับบริการได้ เช่น ร้านขายยา คลินิกทันตกรรม หรือคลินิกกายภาพบำบัด เพื่อลดความสับสนและช่วยกระจายผู้ป่วย ลดความแออัดในโรงพยาบาล

สำหรับมาตรการระยะยาว สภาผู้บริโภคมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และการขยายความร่วมมือเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน ประการแรกคือ การพัฒนาและยกระดับศักยภาพของศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เทียบเท่ากับโรงพยาบาลชุมชน สามารถรับขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองได้อย่างน้อย 50,000 คน และให้คลินิกชุมชนอบอุ่นทำหน้าที่เป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิที่แข็งแกร่ง

ประการที่สองคือ การส่งเสริมความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร โดยไม่จำกัดเพียงการรักษาฉุกเฉินวิกฤต แต่ขยายขอบเขตการรับส่งต่อผู้ป่วยเฉพาะทางและกรณีอื่นๆ ด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการรักษา ลดระยะเวลารอคอย และลดความแออัดในหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐ

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญที่สภาผู้บริโภคยังคงยึดมั่นและผลักดันมาโดยตลอด คือการยกระดับ “สิทธิบริการสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวในทุกกองทุน” เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างเป็นธรรมและมีคุณภาพโดยปราศจากความเหลื่อมล้ำ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง