กองทุน USO งบมหาศาล แต่ผู้พิการยังไร้ล่ามสื่อสาร

บริการล่ามภาษามือผ่านออนไลน์ (Thailand Telecommunication Relay Service : TTRS) ที่เปรียบเสมือนเส้นชีวิตสำหรับผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย กำลังเผชิญวิกฤตงบประมาณขั้นวิกฤต เสี่ยงต่อการหยุดชะงัก ท่ามกลางคำถามถึงการบริหารจัดการกองทุนเพื่อการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation : USO) ที่มีเม็ดเงินมหาศาล แต่กลับจัดสรรไม่ถึงกลุ่มผู้เปราะบางที่จำเป็นต้องเข้าถึงบริการสื่อสารขั้นพื้นฐานนี้

ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงบั่นทอนคุณภาพชีวิตผู้พิการ แต่ยังเป็นบททดสอบความรับผิดชอบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้เป็นรูปธรรม

TTRS หยุดชะงัก ชีวิตผู้พิการติดขัดทุกด้าน

ผลกระทบจากการขาดงบประมาณของ TTRS ส่งตรงถึงชีวิตประจำวันของผู้พิการทางการได้ยินอย่างแสนสาหัส นับดาว องค์อภิชาติ ผู้อำนวยการกองประกวด Miss & Mister Deaf Thailand สะท้อนภาพความจริงที่น่ากังวลว่า คนหูหนวกต้องใช้ล่ามออนไลน์ TTRS เพื่อช่วยในการสื่อสารในทุกมิติ ตั้งแต่งานอาชีพ เช่น คนขับรถส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ที่ต้องติดต่อลูกค้าเพื่อยืนยันออเดอร์ ไปจนถึงเหตุฉุกเฉินยามวิกาลอย่างอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกะทันหัน ซึ่งต้องการล่ามช่วยแปลสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน การแจ้งความกับตำรวจ รับพัสดุ หรือแม้แต่ทำธุรกรรมธนาคารที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นความลับ ก็ล้วนต้องพึ่งพา TTRS ทั้งสิ้น

“อยากให้ กสทช. มีงบสนับสนุนคนหูหนวกได้เข้าถึงการอบรมโครงการเกี่ยวกับการให้ความรู้สิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งอยากให้คนหูหนวกมีความรู้ที่เท่าทันกับโลกค่ะ ตามทันข้อมูลข่าวสารได้ และสุดท้ายคืออยากให้ TTRS เปิดให้บริการไปตลอดค่ะเพื่อให้คนหูหนวกได้เข้าถึงสิทธิการสื่อสารขั้นพื้นฐานเหมือนกับคนหูดีค่ะ” นับดาว ระบุ

การที่บริการเหล่านี้ขาดหายไป ทำให้ผู้พิการเสมือนถูกตัดขาดจากการดำเนินชีวิตปกติ และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการสื่อสารได้

กสทช. ถูกตั้งคำถาม กองทุน USO ไม่ตรงเจตนารมณ์

วิกฤต TTRS เผยให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในการบริหารจัดการของ กสทช. อย่างชัดเจน สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค มองว่านี่คือสัญญาณของความไม่ใส่ใจหรือละเลยการคุ้มครองสิทธิของประชาชนกลุ่มเปราะบางจาก กสทช. และยังชี้ว่าปัญหาคลาสสิกของ กสทช. คือ กระบวนการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ตรงเจตนารมณ์ ไม่แก้ปัญหา ไม่มียุทธศาสตร์

สอดรับกับงานวิจัยจาก 101 Public Policy Think Tank ที่ระบุว่า แม้กองทุน USO จะมีเงินสะสมมหาศาล แต่กลับมีการจัดสรรเงินจำนวนมากไปใช้ด้านอื่น อาทิ การฝึกทักษะ การให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่หน่วยงานรัฐ หรือแม้แต่การจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ทั้งที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายของกองทุน ที่ต้องจัดสรรให้เป็นไปเพื่อบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม

ขณะที่ อารีวรรณ จตุทอง คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ยิ่งตอกย้ำว่า แผน USO ฉบับที่ 4 ที่มีผลบังคับใช้ถึงปี 2569 ได้กำหนดเป้าหมายชัดเจนให้จัดบริการโทรคมนาคมพื้นฐานแก่กลุ่มเป้าหมายคนพิการ แต่เหตุใด TTRS จึงไม่ได้รับการสนับสนุน ทั้งที่เป็นบริการสำคัญที่รัฐควรจัดให้ประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

“เกิดอะไรขึ้นกับวิธีคิดของผู้มีอำนาจตัดสินใจในการใช้เงิน USO” อารีวรรณตั้งคำถามกลับไปยัง กสทช. โดยตรง

ข้อเรียกร้องจากผู้บริโภค “โปร่งใส เข้าถึงได้ และยั่งยืน”

ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น เสียงเรียกร้องจากผู้พิการและองค์กรภาคประชาชนดังขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อ กสทช. เพื่อให้ TTRS รวมทุนการจัดสรรงบประมาณของกองทุน USO สามารถเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง และคืนสิทธิพื้นฐานในการสื่อสารให้ผู้พิการอย่างแท้จริง ได้แก่

งบประมาณที่ยั่งยืน กสทช. ต้องจัดสรรงบประมาณจากกองทุน USO ให้ TTRS อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ เพื่อให้บริการมีคุณภาพและครอบคลุมทั่วถึง โดยไม่ควรมีข้อจำกัดด้านเวลาหรือปริมาณล่าม

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กสทช. ควรจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้พิการทางการได้ยิน พร้อมล่ามภาษามือ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิประโยชน์ รวมถึงภัยอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อ่านภาษาไทยไม่คล่อง

โปร่งใสและตรวจสอบได้ สุภิญญาเน้นย้ำว่า กสทช. ควรบริหารกองทุน USO อย่างโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล (Open Data) และจัดเวทีสาธารณะให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับกองทุน เพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้เงินได้อย่างแท้จริง

ปรับปรุงการเข้าถึงสื่อ เพิ่มล่ามภาษามือในช่องทีวีต่าง ๆ ควบคู่กับแคปชันและภาพ เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วน

พัฒนาแผนแม่บท กสทช. ควรทบทวนและปรับปรุงแผน USO ให้ทันสมัย โดยรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดผลเชิงยุทธศาสตร์สูงสุด

ก้าวต่อไปที่ กสทช. ต้องพิสูจน์ความรับผิดชอบ

แม้ กสทช. จะรับปากว่าจะแก้ไขปัญหา TTRS แต่ผู้บริโภคและหน่วยงานติดตามอย่าง กตป. จะยังคงจับตาดูอย่างใกล้ชิด สุภิญญา เผยว่า หากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข สภาผู้บริโภคยินดีให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและร่วมผลักดันในขั้นต่อไป

วิกฤต TTRS ไม่ใช่เพียงปัญหาด้านงบประมาณ แต่สะท้อนถึงการเพิกเฉยต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนกลุ่มเปราะบาง กสทช. ในฐานะผู้บริหารกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบริการสาธารณะ ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความรับผิดชอบ ด้วยการบริหารจัดการกองทุน USO อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และจัดสรรงบประมาณให้ถึงมือผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริง เพื่อให้คำกล่าวที่ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นจริง และ TTRS จะกลับมาเป็นเส้นชีวิตที่มั่นคงสำหรับผู้พิการทางการได้ยินในประเทศไทยทุกคน