World App สแกนม่านตา ได้ 1,000 บาท คุ้มหรือไม่?

“World App” สแกนม่านตา ได้ 1,000 บาทแลกกับข้อมูลชีวภาพ

ในโลกของการแชร์ข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์สามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็วเพียงปลายนิ้วคลิก ทำให้การทำสิ่งใดบนโลกดิจิทัล จะกลายเป็นการฝากร่องรอยบนโลกดิจิทัล หรือ Digital Footprint ติดตามทุกคนไปตลอด ทั้งการกดไลก์ กดแชร์ หรือการให้ความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ไปจนถึงการให้ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านออนไลน์ ที่ต้องตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างด้วยความรอบด้านมากที่สุด

ล่าสุด ได้มีเทคโนโลยี “World ID” ระบบยืนยันตัวตนผ่านการสแกนม่านตา เป็นการพัฒนาโดยเจ้าของผู้พัฒนาแชทจีพีที (ChatGPT) จากประเทศสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาระบบ “ยืนยันว่าเป็นมนุษย์” ผ่านระบบ สแกนม่านตา เมื่อผ่านการสแกนแล้ว จะไม่มีการเก็บม่านตาไว้ แต่ใช้วิธีการแปลงม่านตาให้เป็นโค้ดเข้ารหัส (Iris Code) ที่มีความแตกต่าง เพื่อร่วมพัฒนาว่าผู้ใช้เป็นมนุษย์จริง (Proof of Personhood) และไม่ต้องเปิดเผยตัวตน โดยข้อมูลจะถูกลบจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการยืนยันตัวตน ที่เรียกว่าโออาร์บี (Orb) ทันทีหลังยืนยัน

สำหรับเทคโนโลยีใหม่นี้ ได้ใช้กลไกการทำงานของเทคโนโลยี “Orb” อุปกรณ์สแกนม่านตาเพื่อสร้าง World ID แบบไม่ซ้ำกัน พร้อมถูกจัดเก็บไว้ในโทรศัพท์ภายในแอปฯ World App ของทุกคนแบบเข้ารหัส เพื่อใช้ในการเข้าสู่ระบบแอปฯ หรือบริการออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้การทำธุรกรรม และบริการต่าง ๆ มีความสะดวก โดยมีเป้าหมายร่วมป้องกันดีปเฟค (Deepfake) และสร้างความน่าเชื่อถือในโลกออนไลน์ รวมถึงช่วยแยกบอทออกจากคน ร่วมป้องกันบอทเข้าไปใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ

เครื่อง Orb อุปกรณ์สแกนม่านตาเพื่อสร้าง World ID
เครื่อง Orb อุปกรณ์ สแกนม่านตา เพื่อสร้าง World ID แบบไม่ซ้ำกัน

ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวได้เข้ามาเปิดให้บริการในไทยแล้ว โดยผู้ใช้งานต้องดาวน์โหลดแอปฯ World App ก่อน หลังจากนั้นไปจุดที่ติดตั้งเครื่อง Orb ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง ปัจจุบันมีประมาณ 100 จุด และได้วางเป้าหมายให้มีครอบคลุม 1,000 จุด เพื่อให้ทุกคนไปสแกนม่านตาในการยืนยันความเป็นมนุษย์ เมื่อผู้เข้ามาใช้งานผ่านการสแกนม่านตาแล้วจะมีการให้เหรียญดิจิทัล เรียกว่า Worldcoin (WLD) ให้แก่ผู้เข้ามาใช้บริการ หรือคิดเป็นเงินไทยมีมูลค่าประมาณหนึ่งพันบาท จึงได้รับความสนใจจากประชาชนเข้ามาใช้บริการจำนวนมากในหลายพื้นที่

ท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความสนใจจากคนไทย เมื่อไปสำรวจระบบของ World ID ได้ขยายบริการระบบสแกนม่านตาไปในหลายประเทศทั่วโลกเช่นกัน แต่มี 8 ประเทศ ประกาศว่าไม่อนุญาตให้ระบบดังกล่าวเข้ามาเปิดให้บริการ มาจากความกังวลในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Security) เนื่องจากระบบต้องขอให้มีการสแกนม่านตาและสแกนหน้าหลายครั้ง ประกอบด้วย สเปน บราซิล ฮ่องกง เยอรมนี โปรตุเกส เคนยา โคลัมเบีย และอินโดนีเซีย

เรียกได้ว่าหลายประเทศยังไม่รองรับกับระบบนี้ แม้ว่า World ID ยืนยันว่า “ไม่เก็บภาพม่านตา” แต่การแปลงม่านตาให้กลายเป็นโค้ดที่ไม่เหมือนกัน แต่ต้องพิจารณาว่าการจัดเก็บข้อมูลชีวภาพ (Biometric Data) ถือว่ามีความละเอียดอ่อนสูง รวมถึงเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความสำคัญและแสดงถึงการเป็นตัวตนที่มีหนึ่งเดียวในโลก ทำให้การเก็บข้อมูลต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคล (PDPA) อย่างเข้มงวด

สำหรับผู้บริโภคคนไทยที่สนใจสมัครใจใช้บริการนี้ ต้องพิจารณาข้อมูลทุกอย่าง พร้อมตรวจสอบให้ชัดเจนว่าข้อมูลหลังจากนี้จะมีการจัดเก็บและบริหารจัดการทุกอย่างด้วยความรอบคอบระดับใด รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของฐานข้อมูลชีวภาพก่อนตัดสินใจใช้บริการ และต้องพิจารณากับข้อจูงใจในการแจกเหรียญดิจิทัลกับการให้ข้อมูลชีวภาพมีความคุ้มค่าระดับใด เพราะข้อมูลชีวภาพ อาจจะมีมูลค่ามหาศาล หรือเปรียบเทียบเป็นเงิน 1,000 บาทได้หรือไม่

อีกทั้งเมื่อพิจารณากฎหมายในประเทศไทยได้มี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ เรียกว่า กฎหมาย PDPA Thailand เพื่อร่วมดูแลจัดการข้อมูลส่วนบุคคล โดยการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลมี 2 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป (Personal Data) เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน เป็นต้น และข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว (Sensitive Personal Data) แสดงถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ระบุตัวตนได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น เชื้อชาติ ศาสนา ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูง ต้องคุมเข้มในการดูแลข้อมูลมากยิ่งขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษทางกฎหมาย ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

ดังนั้น ผู้บริโภคก่อนที่จะลงลายเซ็นอนุญาตให้ทุกคนได้ใช้สิทธิในด้านใดก็ตาม ต้องพิจารณาทุกอย่างด้วยความระมัดระวังมากที่สุด และคำนึงทุกครั้งว่าแม้เทคโนโลยีดีเพียงใด แต่ผู้บริโภคต้องรู้ทันและไม่ตกเป็นเหยื่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง