สภาผู้บริโภค ชงหน่วยงานสนองมติ ครม. เร่งพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียน

สภาผู้บริโภค ร่วมกับ สสส. จัดเวที “สานพลัง ขับเคลื่อน โรงเรียนศูนย์เรียนรู้ เพื่อรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย” เปิดตัวศูนย์เรียนรู้ระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมเร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฎิบัติ ครม. อย่างเคร่งครัดโดยทันที

วันนี้ (1 พฤษภาคม 2567) สภาผู้บริโภค ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “สานพลัง ขับเคลื่อน โรงเรียนศูนย์เรียนรู้ เพื่อรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย” ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สสส. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้บริหารและอาจารย์ผู้รับผิดชอบโรงเรียนศูนย์เรียนรู้ฯ สมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้าร่วมงานในครั้งนี้

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคระบุว่า ในปี 2565 มีอุบัติเหตุทางถนนและความไม่ปลอดภัยกับรถรับส่งนักเรียนถึงปีละ 30 ครั้ง ขณะที่ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ปี 2567 เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนถึง 15 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 153 คน โดยสาเหตุของอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการ หรือผู้ขับรถ สภาพรถที่ไม่ปลอดภัย และขาดการจัดการที่เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนถึงปัญหาสำคัญในเชิงโครงสร้าง และขาดการจัดการอย่างเร่งด่วน

สภาผู้บริโภคจึงร่วมมือกับ สสส. องค์กรสมาชิก รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ขับเคลื่อนให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม ภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม โดยดำเนินงานร่วมกับเครือข่าย 6 ภูมิภาค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 33 จังหวัด เพื่อผลักดันให้เกิด “ศูนย์เรียนรู้ระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย” จำนวน 20 โรงเรียนที่มีความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นได้

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่มีการมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดเรื่องความปลอดภัยของรถรับส่งนักรเยนเป็นอีกประเด็นหนึ่งของนโยบายระดับชาติ

“เมื่อ ครม. มีมติให้เรื่องความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนเป็นนโยบายระดับชาติแล้ว ก็อยากเห็นว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตอบสนองมติ ครม. ดังกล่าวอย่างทันท่วงที และร่วมกันปรับปรุงพัฒนาระบบ มาตรฐาน รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศได้ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน” สารีระบุ

ขณะที่ ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่หรือผู้ประกอบการ ขับรถเร็ว ง่วงแล้วขับ ในส่วนของมาตรฐานพบว่า รถรับส่งนักเรียนบางส่วนไม่ได้ขึ้นทะเบียนขออนุญาตตามกฎหมาย มีสภาพรถที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ขาดการจัดการที่เป็นระบบ

เวทีวิชาการ “สานพลัง ขับเคลื่อน โรงเรียนศูนย์เรียนรู้เพื่อรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย” จึงเป็นเวทีสร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการที่ปลอดภัยระหว่างโรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นถึงความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการ พัฒนาระบบบริการคุณภาพความปลอดภัยในปัจจุบัน พร้อมผลักดันข้อเสนอนโยบาย และมาตรการที่จะนำไปสู่การพัฒนาการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กนักเรียน

“สสส. ให้ความสำคัญและหนุนเสริมการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ปัจจุบันมีต้นแบบโรงเรียนศูนย์เรียนรู้การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยในโรงเรียน 20 แห่ง ที่พร้อมเป็นศูนย์การเรียนรู้ขยายผลการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชนในการเดินทางไปกลับจากโรงเรียน

แนวทางสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัย คือ 1) การมีระบบการจัดการ รถรับ-ส่งนักเรียน ที่ปลอดภัย 2) ความร่วมมือของโรงเรียน ขนส่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ ผู้ปกครอง นักเรียน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง 3) การจัดการหน้าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย Safety Zone – Low Speed และการสำรวจเส้นทางเดินรถของรถรับส่งนักเรียน 4) สร้างความปลอดภัย ให้กับนักเรียนและบุคลากรที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะหลักในเดินทาง และส่งเสริมการใช้หมวกนิรภัย” ก่องกาญจน์ กล่าว     

ทางด้านรองศาสตราจารย์อิสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจในหลายจังหวัดพบว่าสาเหตุของปัญหารถรับส่งนักเรียนในปัจจุบัน คือลักษณะปัญหาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน จึงมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ต่างกัน จึงไม่มีระบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกโรงเรียน นอกจากนี้ยังพบปัญหาขาดการบูรณาการของหน่วยงานร่วมกัน ไม่มีหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลและตรวจสอบการดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน อีกทั้งยังมีปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย และขาดกฎหมายที่ควบคุมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน

รองศาสตราจารย์อิสรีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดทำรายงานพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 โดยเสนอแนะให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันภายใต้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และกำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในทุกจังหวัด นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงาน ดังนี้

1) กระทรวงศึกษาธิการ ต้องกำหนดมาตรการ พัฒนา และสนับสนุนให้เกิดระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ 2) กรมการขนส่งทางบก ให้ทบทวนกฎหมาย อบรมเสริมความรู้ จัดทำฐานข้อมูล และออกมาตรการเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเกิดแรงจูงใจในการนำรถเข้าสู่ระบบ 3) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ช่วยส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในด้านความปลอดภัยเชิงป้องกัน และระบบการบริการหารจัดการรถรับส่งนักเรียนด้วย และ 4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนเรื่องงบประมาณและจัดทำฐานข้อมูกลางเพื่อให้แนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ จากข้อเสนอแนะดังกล่าว ครม. มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีหน่วยงานที่นำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงการทำงาน เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) พัฒนาเทคโนโลยีรถรับ – ส่งนักเรียน โครงการรถโรงเรียนรุ่นใหม่เด็กปลอดภัย (Smart School Bus) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ออกแนวทางปฏิบัติในการควบคุมดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดรถรับส่งนักเรียนของ สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

ส่วนคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์สาธารณะที่ได้รับขออนุญาตให้ใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนเพียง 3,342 คัน ขณะที่ยังมีรถรับส่งนักเรียนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการขออนุญาตให้บริการรับส่งนักเรียนอยู่ทั่วประเทศ

ซึ่งการที่ผู้ประกอบการ หรือผู้ขับรถรับส่งนักเรียนไม่นำรถที่ใช้รับส่งนักเรียนไปขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตตามกฎหมายนั้น ส่งผลต่อการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน รวมถึงเป็นปัจจัยเสริมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับรถรับส่งนักเรียนที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ใช้รถผิดประเภท หลีกเลี่ยงการจัดทำประกันภัย ประมาทเลินเล่อ ตลอดจนดัดแปลงสภาพรถ เพื่อให้รับนักเรียนได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน

นายคงศักดิ์กล่าวอีกว่า ในการดำเนินโครงการได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย 9 ด้าน เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียน ดังนี้ 1. มีระบบข้อมูลนักเรียน รถ คนขับ เส้นทาง พฤติกรรมคนขับ 2. ระบบเฝ้าระวัง ให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยรายงานปัญหาได้ 3. มีระบบการดูแลนักเรียนในรถที่ถูกต้อง ทั่วถึง 4. มีการรวมกลุ่มคนขับ สร้างข้อปฎิบัติและวางแผนร่วมกัน 5. ต้องมีมาตรฐาน มีขั้นตอนตรวจสอบสภาพรถ และขึ้นทะเบียนกับขนส่ง 6. มีจุดจอดรถที่ปลอดภัย และระบบความปลอดภัยหน้าโรงเรียน 7. มีระบบคณะทำงาน และหลักเกณฑ์ เพื่อติดตามประเมินผลทั้งระบบ 8. มีกลไกจัดการ โดย ครู นักเรียน กรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง และ 9. มีคณะทำงานระดับอำเภอหรือจังหวัด

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค