ส่องนโยบายผู้บริโภคด้านอาหารฯ ประจำเดือน ก.พ. 66

เมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานสภาผู้บริโภค จัดประชุมคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ครั้งที่ 1/2566 โดยมีการหารือในประเด็นผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเด็กและเยาวชน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ตามกฎหมายของประเทศหลายฉบับ มีอัตราโทษที่สูง อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นว่า ควรมีการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน และเป็นการสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายภาคสังคม อาทิ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายเยาวชน และเครือข่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในจังหวัดต่าง ๆ ที่ได้ทำงานในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องเข้มข้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีนโยบายป้องกันการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาชน ซึ่งรัฐบาลไทยได้ยึดนโยบายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2558 โดยได้มีการออกและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ฉบับ คือ

1) คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522

2) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ออกตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522

และ 3) การควบคุมการนำเข้า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 แต่ยังพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายบุรี่ไฟฟ้าอยู่เป็นระยะ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค