Getting your Trinity Audio player ready... |

สภาผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แต่ชี้ยังมีช่องว่าง โดยเฉพาะการจำกัดการใช้งานผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” ที่อาจตัดโอกาสผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือบัตรชำระเงิน พร้อมแนะรัฐเร่งผลักดันกฎหมาย 3 ฉบับให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้จริงสำหรับทุกคน
จากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ในราคาไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายของรัฐบาล ที่เสนอโดยกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 โดยจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และเริ่มใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่สภาผู้บริโภคขับเคลื่อนมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนก่อตั้งองค์กร และเมื่อตั้งองค์กรในปี 2564 ได้เดินหน้าผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการทำให้ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ทั่วถึง ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชนสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึงในทุกวัน
“องค์กรผู้บริโภคเราขับเคลื่อนเรื่องนี้ตั้งแต่การคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ของกรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายว่าทุกคนต้องเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ ซึ่งเราไม่ได้เน้นแค่การสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น การนำบัตรต่าง ๆ ไปใช้ เพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ดีทุกคนขึ้นได้ควรเป็นสิทธิที่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน” คงศักดิ์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม แม้นโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาท” จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จตามนโยบายของสภาผู้บริโภค แต่มาตรการดังกล่าวยังมี “ช่องว่าง” ที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต พร้อมตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าจะมีแนวทางใดในการขยายการเข้าถึงให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การพิจารณา พ.ร.บ. 3 ฉบับที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ร.บ. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ซึ่งต้องรอติดตามต่อว่าจะผ่านมติ ครม. หรือไม่ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ซึ่งกำหนดให้มี “กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม” เพื่อนำไปสนับสนุนผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบตั๋วร่วมได้ โดยให้มีผู้แทนจากสภาผู้บริโภคเข้าไปเป็นคณะกรรมการนโยบายตั๋วร่วมด้วย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทได้อย่างยั่งยืน
“รถไฟฟ้า 20 บาท จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมาย 3 ฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาหรือไม่” คงศักดิ์กล่าว พร้อมเชิญชวนผู้บริโภคร่วมติดตามความคืบหน้าการพิจารณากฎหมายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด