เปิดรับทนายความ ขึ้นทะเบียนบัญชีทนายความสภาองค์กรของผู้บริโภค

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดรับทนายความ ขึ้นทะเบียนบัญชีทนายความของ สอบ.

เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง สินค้าผิดกฎหมาย รถโดยสารไม่ได้มาตรฐาน ขนส่งสาธารณะราคาแพง หรือแม้แต่ปัญหาบริการสุขภาพและสาธารณสุข ทั้งที่ปรากฏในชีวิตจริงและออนไลน์ ขณะนี้ผู้บริโภคถูกแวดล้อมด้วยข้อมูลข่าวสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แม้แต่การขายสินค้าก็เช่นเดียวกัน ปัญหาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมมีมากขึ้น สอบ.จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นปาก เป็นเสียง แก้ปัญหาให้ผู้บริโภคอย่างเป็นมิตรและมีความเป็นมืออาชีพด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน

ทั้งนี้ สอบ.ประกาศขึ้นทะเบียนทนายความครั้งที่ 2 ประจำปี 2565 โดยทนายความที่มีความประสงค์จะขึ้นทะเบียนทนายความของ สอบ. สามารถยื่นใบสมัครได้ที่ สมัครทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตั้งแต่วันนี้ – 31 พฤษภาคม 2565

คุณสมบัติ

  1. ได้รับใบอนุญาตว่าความและมีประสบการณ์ในการทำคดีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
  2. มีผลงานย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่ปี 2565
  3. ต้องไม่เป็นผู้ประพฤติผิด หรือเคยประพฤติผิดต่อมรรยาททนายความ
  4. มีผลงานคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีผู้บริโภคอย่างน้อย 3 คดี
  5. หากมีผลงานคดีที่เป็นคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างน้อย 1 คดี จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

เอกสารที่ต้องยื่นพร้อมใบสมัคร

  1. รูปถ่ายสวมชุดครุยทนายหรือชุดสูท จำนวน 1 รูป
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
  4. สำเนาปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต หรือนิติศาสตร์มหาบัณฑิต พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
  5. สำเนาใบอนุญาตทนายความ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
  6. ประวัติส่วนตัว พร้อมระบุความเชี่ยวชาญ และประวัติการทำคดีของทนายความ (Resume หรือ Curriculum Vitae : CV)
  7. ตัวอย่างผลงานคดี เช่น คำพิพากษาโดยปิดชื่อ สกุลโจทก์หรือจำเลย  
  8. หนังสือรับรองประวัติจากสภาทนายความ

หมายเหตุ : การยื่นสำเนาเอกสารทุกฉบับให้รับรองสำเนาถูกต้องด้วย โดยสามารถส่งได้ทั้งรูปแบบไฟล์ JPEG หรือ PDF 

สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ ทำหน้าที่เสนอความคิดเห็น จัดทำนโยบาย และมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สะท้อนหลักการสำคัญที่ว่า “ผู้บริโภคมีส่วนร่วมจัดทำนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองตนเอง รวมทั้งเป็นตัวแทนให้ความคิดเห็นที่เป็นอิสระ รักษาผลประโยชน์ของทุกคน เพราะทุกคน คือ ผู้บริโภค”