แก้กฎหมายควบคุมอาคาร : ความปลอดภัยหรือผลประโยชน์?

Getting your Trinity Audio player ready...
กฎหมายควบคุมอาคาร : ความปลอดภัยหรือผลประโยชน์?

ความพยายามในการ แก้กฎหมายควบคุมอาคาร ของ กทม. ที่อ้างถึง “ความปลอดภัย” แต่ในความเป็นจริงดูเหมือนจะทำให้ความปลอดภัยของประชาชนลดลง นำไปสู่คำถามที่ว่าการปรับเปลี่ยนกฎหมายฉบับนี้ เป็นไปเพื่อความปลอดภัยหรือผลประโยชน์กันแน่

ปัจจุบันกำลังมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายอาคารสูงในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมายยังไม่ได้ประกาศใช้ โดยที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีการอ้างเหตุผลในการแก้ไขกฎกระทรวงใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของคนกรุง แต่หากพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายที่ถูกปรับเปลี่ยนก็จะพบว่า การแก้กฎหมายในครั้งนี้ไม่ได้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยในอาคารสูงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ร่างกฎหมายฉบับใหม่กลับลดทอนความปลอดภัยทั้งของคนที่อยู่ในอาคารสูงรวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

เมื่อได้อ่านละเอียดในเนื้อหาจะพบว่า ระหว่างบรรทัดของกฎหมายฉบับนี้กลับดูเหมือนจะเอื้อให้อาคารสูงที่เคยผิดกฎหมาย กลายเป็น ถูกกฎหมาย หรือเป็นการ “ฟอกขาว” ให้อาคารที่ผิดกฏหมายใช่หรือไม่ โดยไม่ต้องรับผลกระทบจากการละเมิดข้อกำหนดที่มีมาโดยตลอด มิหนำซ้ำยังเปิดโอกาสให้สามารถสร้างอาคารสูงได้ ในพื้นที่ที่ในกฎหมายเก่าห้ามสร้าง ซึ่งจะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ แน่นขนัดไปด้วยตึกสูงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจนสุ่มเสี่ยงอันตรายกรณีอัคคีภัย หรือแผ่นดินไหว จนมีการตั้งคำถามว่า แก้กฎหมายควบคุมอาคารแล้ว…ใครได้ประโยชน์กันแน่ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ซื้อ และรวมถึงชุมชนใกล้เคียง

แก้กฎหมายควบคุมอาคาร เรื่องความกว้างถนน : เปลี่ยนผิดเป็นชอบ?

ในกฎกระทรวงฉบับเดิม กำหนดไว้ว่า อาคารสูง* หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ** ต้องมีทางเข้าออกติดถนนสาธารณะที่เขตทาง*** ไม่น้อยกว่า 10 เมตร ถ้าพื้นที่อาคารมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีเขตทาง 18 เมตร ตลอดแนว ซึ่งการกำหนดความกว้างของถนนเช่นนี้ จะทำให้รถดับเพลิงเข้าถึงได้ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และการอพยพออกจากพื้นที่ทำได้สะดวก

แต่ร่างกฎหมายใหม่ กำหนดให้ อาคารสูงหรือขนาดใหญ่พิเศษต้องมีทางเข้าออกติดถนนสาธารณะที่เขตทางไม่น้อยกว่า 10 เมตร ส่วนพื้นที่อาคารมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีเขตทาง 18 เมตร อย่างน้อย “หนึ่งทิศทาง” แปลว่าหากเกิดไฟไหม้ รถดับเพลิงอาจเข้าไปช่วยได้ค่อนข้างลำบาก ขณะที่คนในพื้นที่ก็จะอพยพออกมายากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากอาจมีถนนด้านใดด้านหนึ่งที่เขตทางแคบ จนทำให้รถไม่สามารถสัญจรได้สะดวกซึ่งก็จะอันตรายในกรณีที่เกิดเหตุภัยพิบัต เช่น แผ่นดินไหวด้วย

ที่ผ่านมามีอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษหลายแห่งที่มีปัญหาเรื่องความกว้างถนน ยกตัวอย่างคลาสสิกก็เช่น อาคารดิเอทัส (The Atas) ที่อยู่ในซอยร่วมฤดี พบปัญหาการร้องเรียนเรื่องความกว้างของถนนที่ไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว อาคารดังกล่าวถูกร้องเรียนตั้งแต่ปี 2548 จนกระทั่งปี 2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้รื้อถอนอาคาร แต่จนถึงปัจจุบันกว่า 10 ปีหลังคำพิพากษา อาคารยังคงเปิดให้บริการ และยังไม่ถูกรื้อถอน

เจ้าหน้าที่ กทม. เคยให้ข้อมูลในเวทีของสภาผู้บริโภค “10 ปี ดิเอทัส (The Aetas) กับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด” ถึงสาเหตที่ยังไม่สามารถรื้อถอนว่า เกิดจากความซับซ้อนของกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติอย่างรอบคอบและครบถ้วน นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณและทรัพยากรที่ต้องใช้ในการรื้อถอนอาคารด้วย

คำถามสำคัญคือ หากรายละเอียดของกฎหมายมีการแก้ไข จะส่งผลให้อาคารประเด็นเรื่องการรื้อถอนอาคารดังกล่าวถูกยิบหยกขึ้นมาถกเถียงอีกหรือไม่ ในเมื่ออาคารนี้ก็ดูจะไม่ผิดกฎหมายอีกแต่ไปหากมีการแก้กฎหมาย และแน่นอนว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากเรื่องนี้ก็คือ ผู้ประกอบการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่ง กทม. ทุบ ดิเอทัส หลังยืดเยื้อ 10 ปี ย้ำกฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์

บทความพิเศษ: เบรกแอชตันคือชัยชนะชุมชน จี้โยธาฯ ตีความ กม. ต้องรัดกุม

แก้กฎหมาย เรื่องที่ดินตาบอด : ทางรอดของผู้ประกอบการ?

นอกจากเรื่องความกว้างของถนนแล้ว อีก 1 ประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคคือการอนุญาตให้สามารถสร้างาคารสูงได้บนที่ดินตาบอด เพราะกฎหมายเดิมกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าที่ดินตาบอด หรือมีทางเข้าออกกว้างไม่เป็นไปตามกฎหมาย สร้างอาคารสูงหรือขนาดใหญ่พิเศษไม่ได้ ขณะที่ร่างกฎหมายใหม่ กำหนดให้ที่ดินตาบอดสามารถใช้ที่ดินสาธารณะอื่น ๆ เป็นทางเข้าออกได้ เพื่อก่อสร้างอาคารสูง – ขนาดใหญ่พิเศษได้ โดยจะเป็น “ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยตรง” ตราบที่อาคารนั้นยังมีอยู่ ซึ่งอาจทำให้อาคารสูงในกรุงเทพฯ เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเท่าตัว

เมื่อเห็นรายละเอียดการแก้ไขกฎหมายเรื่องดังกล่าว สะท้อนถึงกรณีของตึกแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) คอนโดมิเนียมที่มีความสูงกว่า 51 ชั้น ที่ตั้งอยู่ย่านสี่แยกอโศก ซึ่งมีข้อพิพาทเรื่องการทำสัญญาเช่าที่ดินเวนคืนของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เพื่อขอใช้ที่ดินเป็นทางเข้า – ออกหลัก แต่สุดท้ายถูกศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาต เนื่องจากที่ดินที่โครงการเช่าจาก รฟม. นั้น ถูกระบุเหตุผลในการเวนคืนไว้ว่า ‘เพื่อสาธารณะประโยชน์’ จึงไม่สามารถนำไปให้บริษัทหรือเอกชนทำโครงการได้ และหน่วยงานของรัฐจะออกใบอนุญาตในการก่อสร้างไม่ได้ ดังนั้น จึงทำให้ใบอนุญาตการก่อสร้างทุกใบของโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้อาคารที่ละเมิดกฎหมายกลายเป็นถูกกฎหมาย แต่อาจทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เคยปฏิบัติตัวอย่างไม่ตรงไปตรงมา สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้อย่างง่ายดาย นี่คงเป็นการยอมรับการละเมิดกฎหมายอย่างเปิดเผยในสายตาของสังคม

ในเมืองที่กฎหมายกำลังถูกปรับเปลี่ยนเพื่อสนับสนุน ผลประโยชน์ของเอกชน แต่ไม่ได้คำนึงถึง ความปลอดภัยของคนในเมือง ความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายจะลดลงไปอีก เราควรถามตัวเองว่า การแก้กฎหมายผังเมืองครั้งนี้มีประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์กับใคร แล้วความปลอดภัยของประชาชนอยู่ตรงไหน หากการสร้างอาคารสูงที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นนั้น ส่งผลกระทบชุมชนทั้งเรื่องสาธารณูปโภค ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิต…ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ


หมายเหตุ : ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ติดตามเรื่องการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อย่างต่อเนื่อง และได้ส่งหนังสือเพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วย

* อาคารสูง = อาคารที่มีความสูงมากกว่า 23 เมตร หรือมากกว่า 8 ชั้น

**อาคารขนาดใหญ่พิเศษ = อาคารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้น หรือชั้นใดชั้นหนึ่งในหลังเดียวกัน ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป

*เขตทาง = ความกว้างของถนน ซึ่งรวมความกว้างของผิวจราจร ทางเท้า ที่ว่างสำหรับปลูกต้นไม้คูน้ำ และอื่น ๆ ด้วย เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นระยะหว่าง ‘กำแพงด้านหนึ่งถึงกำแพงอีกด้านหนึ่ง’