พบเพิ่มอีก! ผู้เสียชีวิตรายที่ 4 จากถุงลมนิรภัย ‘ทาคาตะ’ ระเบิด

พบผู้เสียชีวิตรายที่ 4 จากกรณีถุงลมนิรภัยที่ชำรุดยี่ห้อ ‘ทาคาตะ’ ระเบิด ทำให้มีเศษโลหะกระเด็นเข้าใส่ที่ใบหน้าและศรีษะอย่างรุนแรง ในขณะที่เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ย้ำเตือนผู้บริโภค ตรวจสอบรุ่นรถที่ต้องเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย เพื่อความปลอดภัย

วันนี้ (17 มีนาคม 2566) ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ได้รับข้อมูลกรณีผู้เสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะระเบิด ในรถยนต์มิตซูบิชิ ไทรทัน (Mitsubishi Triton) รุ่นปี 2007 (พ.ศ.2550) ทำให้ปัจจุบันมีผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ถุงลมนิรภัยระเบิด รวม 7 ราย ได้รับบาดเจ็บสาหัส 3 ราย และเสียชีวิต 4 ราย

ภัทรกรกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนำเลขตัวถังไปตรวจสอบพบประวัติเเจ้งเข้าได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับพนักงานสอบสวนทำให้ทราบว่า อุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 นั้น ไม่ได้รุนแรงมาก ผู้โดยสารเกือบทั้งหมดในรถยนต์ทั้งสองคันบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ไม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่กลับมีผู้เสียชีวิต 1 ราย

โดยผลชันสูตรโดยแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลมหาราช ระบุว่า เป็นการเสียชีวิตที่เกิดจากถุงลมนิรภัยทาคาตะระเบิด ทำให้มีชิ้นส่วนโลหะของถุงลมพุ่งเข้าใส่บริเวณใบหน้าและหัวของผู้เสียชีวิต โดยเบื้องต้นได้ติดต่อไปยังญาติของผู้เสียชีวิตและประสานไปยังผู้ประกอบการรถยนต์แล้ว โดยต้องรอผลชันสูตรอย่างเป็นทางการ และจะดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยและช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป

วันทนีย์ พริกบุญจันทร์ ภรรยาของผู้เสียชีวิตระบุว่า ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากเต็นท์รถยนต์มือสองในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 โดยก่อนซื้อพนักงานของเต็นท์รถแจ้งว่าเช็คข้อมูลของรถเรียบร้อยแล้ว และไม่ได้บอกว่าต้องการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ใช้รถยนต์ประมาณ 6 ปี ไม่เคยได้รับจดหมายหรือโทรศัพท์ติดต่อให้เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยเลย ทั้งนี้ หลังจากอุบัติเหตุ ได้รับการติดต่อจากสภาผู้บริโภคเพื่อให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว และอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบ

“อยากให้บริษัทมิตซูบิชิรับผิดชอบเยียวยาในสิ่งที่เกิดขึ้น และมองว่าถุงลมเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้งที่มีการเช็คสภาพรถ นอกจากนี้ยังฝากถึงคนที่ใช้รถยนต์อยากให้ตรวจเช็คสภาพรถเป็นประจำ และเข้าไปตรวจสอบว่ารถยนต์รุ่นที่ใช้อยู่เข้าข่ายรถที่ต้องเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนที่เรารัก อย่ารอจนเกิดเหตุ เพราะสิ่งที่ตามมาอาจเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของเราก็ได้” วันทนีย์ระบุ

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีรถยนต์อีกมากกว่า 595,000 คันในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตราย โดยข้อมูลปัจจุบันพบว่ามีรถยนต์ถึง 16 ยี่ห้อ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยบกพร่องยี่ห้อทาคาตะ ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ติดตามข้อมูลการเรียกคืนรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลงนิรภัยอยู่เป็นระยะ

สำหรับรถยนต์ที่ต้องเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย ได้แก่ เซฟโรเลต (รุ่นปี 2007 – 2015) บีเอ็มดับบลิว (รุ่นปี 1998 – 2018) ฟอร์ด (รุ่นปี 1998 – 2014) ฮอนด้า (รุ่นปี 1998 – 2014) มาสด้า (รุ่นปี 2004 – 2014) มิตซูบิชิ (รุ่นปี 2005 – 2015) นิสสัน (รุ่นปี 2000 – 2014) และ โตโยต้า (รุ่นปี 2001 – 2014) จากัวร์ (รุ่นปี 2009 – 2015) แลนด์ โรเวอร์ (รุ่นปี 2007 – 2012) ซูบารุ (2003 – 2014) เทสล่า (รุ่นปี 2012 – 2016)  โฟล์คสวาเกน (รุ่นปี 2006 – 2018) อาวดี้ (รุ่นปี 1998 – 2017) เมอร์เซเดส-เบนซ์ (รุ่นปี 2005 – 2017) และเล็กซัส (รุ่นปี 2002 – 2017)

ผู้บริโภคสามารถเข้าไปตรวจสอบว่ารถยนต์เข้าข่ายที่ต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหรือไม่ ได้ที่เว็บไซต์สภาผู้บริโภค https://www.tcc.or.th/warning-airbag/ หรือเว็บไซต์ของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย www.checkairbag.com  หรือนำรถยนต์เข้าไปตรวจสอบได้ที่ศูนย์บริการทุกสาขา หรือสามารถติดต่อสายด่วน 1584 ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่ารถยนต์เข้าข่ายต้องเปลี่ยน สามารถติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ เพื่อนำเข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

หากพบปัญหาการถูกปฏิเสธไม่รับเปลี่ยนถุงลมนิรภัย หรือถูกเรียกเก็บค่าบริการ หรือพบปัญหาอื่น ๆ สามารถร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เบอร์สายด่วน 1166 และสามารถร้องเรียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ complaint.ocpb.go.th หรือ ร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค ได้ที่เว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public อีเมล [email protected] ไลน์ออฟฟิเชียล @tccthailand หรืออินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค