ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ประจำเดือน ก.พ. 67

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค เป็นประธานในที่ประชุม ได้รับทราบผลการจัดเวทีหยุดผังเมืองรวมกรุงเทพ เหนือสิทธิประชาชน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีตัวแทนของสภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) นักวิชาการ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

ทั้งนี้ ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมที่น่าสนใจ อาทิ กรุงเทพมหานครควรเปิดให้มีการแสดงความเห็นที่หลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่เนื่องจากเวลาการจัดประชุมรับฟังความเห็นค่อนข้างน้อย และประชาชนยังไม่รู้ถึงผลกระทบที่ชัดเจนว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร การจัดรับฟังความคิดเห็นจึงต้องมีรายละเอียดในแต่ละเรื่องของการวางและจัดทำผังเมืองว่าส่วนไหนควรต้องดำเนินการ หรือส่วนไหนต้องอนุรักษ์ไว้ เสนอให้ทดลองทำโมเดลในพื้นที่ กทม. โดยเริ่มจากเขตเดียวก่อน เพื่อให้เกิดภาพร่วมกันกับประชาชนที่อาศัยอยู่ใน กทม. และเป็นการขยายเครือข่ายการทำงาน เพราะในขณะนี้ประชาชนเริ่มทราบแล้วว่าผังเมืองมีปัญหาแต่ยังไม่เห็นทางออกที่ชัดเจนและจะไปต่ออย่างไร

สำหรับความเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่า ผังเมืองคือรัฐธรรมนูญฉบับท้องถิ่น ที่กำหนดทิศทางเมืองและการอยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นผังเมืองที่ดีต้องคุ้มครองคนที่อยู่อาศัยได้ ทั้งนี้ประเทศไทยมีกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด ในขณะที่ประเทศอื่นมีการกระจายตัวของตัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ แต่ของประเทศไทยกลับมีความกระจุกตัวสูงมาก ดังนั้นในการวางและจัดทำผังเมืองในครั้งนี้ที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการให้ความเห็น จึงมีคำถามและควรต้องมีคำตอบว่า กรุงเทพมหานครมียุทธศาสตร์หรือทัศนคติในการพัฒนาประเทศอย่างไร

ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า กระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฯ จะต้องยุติการดำเนินการ และกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น เนื่องจากกระบวนการจัดทำอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติการผังเมือง รวมไปถึงกฎหมาย ประกาศ ฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประกาศคณะกรรมการผังเมืองเรื่องหลักเกณฑ์การรับฟังความเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ.2565 ประกาศคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ เรื่อง ธรรมนูญว่าด้วยผังเมือง พ.ศ.2566

สิ่งที่สภาผู้บริโภคจะดำเนินการต่อไป คือการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณายุติกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)

2. ขอให้กรุงเทพมหานคร กลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต้ต้น โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการรับฟังความเห็นและเสียงของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก

3. ขอให้กรุงเทพมหานคร ชี้แจงถึงผลกระทบ รายละเอียด แนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน โดยละเอียดให้ประชาชนเข้าใจและทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค