Getting your Trinity Audio player ready... |

สธ. ประกาศให้ ทรามาดอล เป็นยาควบคุมพิเศษ หลังพบถูกใช้เป็นยาเสพติด กลายเป็นดาบสองคม ด้านองค์กรผู้บริโภคขับเคลื่อน เสริมสร้างสิทธิผู้บริโภครู้เท่าทันยา
บ่อยครั้ง การใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งถ่างปัญหาสังคมให้ยิ่งบานปลาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องยาเสพติดซึ่งถือเป็นสิ่งที่เรื้อรังสังคมไทยมาโดยตลอด ล่าสุด กรณีของ ยาแก้ปวดระดับกลางถึงรุนแรงอย่าง ทรามาดอล
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ ยาทรามาดอลชนิดรับประทาน ให้เป็นยาควบคุมพิเศษ สะท้อนคมอีกด้านที่ซ่อนอยู่กับยาแก้ปวดชนิดนี้
ทำไม “ยาทรามาดอล” ต้องควบคุมพิเศษ
แม้ถูกจัดเป็นยาแก้ปวด แต่ ทรามาดอล (Tramadol) ยาแก้ปวดระดับกลางถึงรุนแรง เช่น ปวดหลังผ่าตัด ปวดจากอุบัติเหตุ หรือโรคเรื้อรัง ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ได้กลายเป็นช่องทางใหม่ของการเสพติดในหมู่วัยรุ่น มักพบยานี้ถูกลักลอบจำหน่ายในโลกออนไลน์ และถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เช่น ผสมกับน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง หรือแอลกอฮอล์ เพื่อให้เกิดอาการเคลิ้มสุข และการใช้ทรามาดอลต่อเนื่องอาจนำไปสู่ การเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ต่างจากฝิ่นหรือเฮโรอีน
ผลข้างเคียงจากการใช้ ยาทรามาดอล ในปริมาณมากอาจเกิดประสาทหลอน ชัก และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังพบอาการกล้ามเนื้อเกร็งกระตุกร่วมกับความดันโลหิตสูง ภาวะลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด ไตวายเฉียบพลัน หากมีการใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นโดยเฉพาะยาอี ยาบ้า จะยิ่งเสริมฤทธิ์ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้น
จนที่สุด กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ ยาทรามาดอลชนิดรับประทาน เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น มีผลบังคับใช้ภายใน 180 วันหลังประกาศ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา
ค่าใช้จ่ายยาเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากการใช้ยาไม่สมเหตุผล
การใช้ยาผิดวัตถุประสงค์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหายาเสพติดนั้น ยาทรามาดอลไม่ใช่ยาชนิดเดียวที่ผู้บริโภคควรระวัง เพราะนอกจากการใช้เพื่อเสพติดแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญปัญหา การใช้ยาไม่สมเหตุผล อย่างหนัก ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและงบประมาณของประเทศ
จากข้อมูล องค์การอนามัยโลก พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 86,544 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 180,585 ล้านบาท ในปี 2561 โดยเฉลี่ยสูงเทียบเท่ากับหลายประเทศพัฒนาแล้ว ปัจจัยสำคัญคือ การใช้ยาเกินความจำเป็น และความเข้าใจผิดของประชาชนเอง
การใช้ยาอย่างถูกต้องเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม เพราะมักพบพฤติกรรมที่เสี่ยง เช่น กินยาเกินขนาดเพราะคิดว่าจะหายเร็วขึ้น ขอรับยาปฏิชีวนะทั้งที่ไม่จำเป็น หรือกินยาซ้ำซ้อนจากหลายแหล่งโดยไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการแพ้ หรือเชื้อดื้อยา แต่ยังเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ เพราะต้องเสียงบประมาณในการซื้อยาและค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
รู้เท่าทันยา คือสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ
“ยาอาจบรรเทาอาการได้ชั่วคราว แต่หากไม่แก้ที่ต้นเหตุ ย่อมเป็นการซ้ำเติมร่างกายในระยะยาว” เภสัชกรหญิง เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน ยกตัวอย่างถึงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น ยาแก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ติดต่อกันนาน ๆ โดยไม่ปรับพฤติกรรม เช่น นั่งทำงานนานเกินไป ยกของหนัก หรือออกกำลังกายหักโหม อาจนำไปสู่ โรคไตวาย ได้ในที่สุด
อีกทั้ง หลายคนยังเข้าใจผิดว่าอาการเจ็บคอต้องทานยาฆ่าเชื้อ ทั้งที่ความจริง 80–90% ของอาการเจ็บคอเกิดจากไวรัส ซึ่งจะหายเองได้ใน 2-3 วัน หากพักผ่อนและดื่มน้ำมากพอ การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น หรือหยุดยากลางคัน จะยิ่งทำให้เชื้อดื้อยา รักษาไม่หาย และอาจไม่มีทางเลือกในการรักษาในอนาคต
ทั้งหมด เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของความเข้าใจผิดในการใช้ยา อีกทั้งในระดับชุมชนเองก็ยังพบปัญหาการซื้อยาเองอย่างไม่สมเหตุผล ทั้ง ยาปฏิชีวนะ ยาชุด ยาแผนโบราณผสมสเตียรอยด์ ปะปนอยู่ในตลาดทั่วไป เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้ง่าย ทั้งจากร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป หรือแม้แต่รถเร่
สาเหตุหลักคือ การขาดความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงอันตราย
ดังนั้น การใช้ยาอย่างสมเหตุผล ต้องเกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของประชาชน หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาผู้บริโภค ในฐานะองค์กรผู้บริโภคระดับจังหวัด จึงร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจาก 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ ลำพูน และลำปาง ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้ยาแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ
นางลำดวน มหาวัน หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาผู้บริโภค เผยถึง บทบาทขององค์กรผู้บริโภคในการเสริมสร้างความรู้แก่ประชาชน และการผลักดัน สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลยา ให้เป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้บริโภคทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
โครงการดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 25 ตำบล มีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน จัดเวทีพูดคุยให้ความรู้ในชุมชน ให้ข้อมูลเรื่องยาที่ใช้บ่อย เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ (NSAIDs) ยาสเตียรอยด์ รวมถึงการรู้เท่าทันโฆษณายา ส่งผลให้ผู้บริโภคกว่า 2,500 คน มีความรู้และเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หยุดใช้ยาชุด หยุดใช้ยาสเตียรอยด์โดยไม่จำเป็น รวมทั้งยังเกิดเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคที่สามารถผลักดันนโยบายร่วมกับภาครัฐได้
“เพราะการใช้ยาอย่างปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องของแพทย์หรือเภสัชเท่านั้น แต่คือ สิทธิของผู้บริโภค ที่ต้องเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน”