ติดอาวุธองค์กรสมาชิก รวมพลังสกัดมิจฉาชีพออนไลน์

สภาผู้บริโภค ติดอาวุธองค์กรสมาชิก จัดอบรมการเฝ้าระวังภัยสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก แนะวิธีรายงานเพจมิจฉาชีพให้ได้ผล

16 สิงหาคม 2566 สภาผู้บริโภคจัดโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการเฝ้าระวังภัยสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย” เพื่อติดอาวุธให้องค์กรสมาชิกในเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานชุมชนของเฟซบุ๊กและแนวทางการจัดการเพจมิจฉาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีเวิร์กช็อปแนะนำวิธีการรายงานเพจและโพสต์ที่ละเมิดมาตรฐานชุมชน ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทดลองปฏิบัติ

นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางทำงานร่วมกันระหว่างสภาผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า (ETDA) และตัวแทนจากเฟซบุ๊ก (Facebook) ประเทศไทยจากเมต้า (Meta) โดยมีการแลกเปลี่ยนเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาซื้อขายออนไลน์ รวมถึงการรายงานเพจที่ฉ้อโกง หรือเอาเปรียบผู้บริโภค

ประภารัตน์ ไชยยศ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ เอ็ตด้า ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้เอ็ตด้ามีบทบาทและภารกิจในการรับร้องเรียนปัญหาธุรกรรมทางออนไลน์ โดยทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เช่น สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จากการรับเรื่องร้องเรียนเป็นระยะเวลาหนึ่งทำให้สังเกตเห็นว่า แม้จะมีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนแล้ว แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหาน้อยลง แต่กลับพบว่ามีจำนวนเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“ถึงแม้หน่วยงานสามารถจัดการเพจของมิจฉาชีพได้ แต่อีกไม่นานมิจฉาชีพกลุ่มเดิมหรือคนเดิมก็จะเปิดเพจขึ้นมาใหม่อีกเป็น 10 เพจ มิจฉาชีพไม่เคยหยุดทำงาน ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็พยายามติดตามจัดการปัญหา ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด จึงตัดสินใจว่าต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปทำนโยบายเชิงรุกควบคู่กันด้วย โดยการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน” หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ระบุ

ประภารัตน์ เล่าต่ออีกว่า สิ่งที่เอ็ตด้าทำคือการลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตำรวจไซเบอร์ รวมถึงองค์รเอกชน เช่น เฟซบุ๊ก เอไอเอส เป็นต้น ซึ่งเป็นอีก หนึ่งแนวทางที่ช่วยให้การสื่อสารสามารถเข้าไปถึงคนในต่างจังหวัดได้มากขึ้น โดยในปีนี้ดำเนินการใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ และในปีหน้ามีแผนจะต่อยอดลงไปถึงระดับพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อส่งต่อไปยังชุมชน ทั้งนี้ ในอนาคตเอ็ตด้าอาจมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับสภาผู้บริโภค เนื่องจากมองว่าการทำงานผ่านเครือข่ายจะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้อย่างแท้จริง

ทางด้าน อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะของเฟซบุ๊กประเทศไทย จากเมต้า ระบุว่า การหลอกลวงบนโลกออนไลน์ (สแกม) นับเป็นปัญหาที่มีความท้าทายเป็นอย่างสูง และเป็นปัญหาร่วมของโลกออนไลน์ในยุคปัจจุบัน โดยมิจฉาชีพจะเปลี่ยนกลลวงไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กยังคงพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรการป้องกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาบนโลกออนไลน์

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กมีปุ่มรายงานเพจ (รีพอร์ต) ทำให้ผู้ใช้สามารถรายงานเมื่อเจอเนื้อหาที่มีปัญหา หรือขัดต่อมาตรฐานชุมชนได้ ทั้งนี้ มาตรฐานชุมชนของเฟซบุ๊กเป็นกฎระเบียบที่กำหนดรายละเอียดสิ่งที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้โพสต์บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก รวมถึงผลิตภัณฑ์ของเมต้าทั่วโลก ทั้งนี้ มาตรฐานชุมชนของเฟซบุ๊กนั้นได้มาจากการทำงานร่วมกับและผู้เชี่ยวชาญหลายหน่วยงานเพื่อร่วมตั้งกฎ ดังนั้นเมื่อเจอเนื้อหาที่ไม่ปลอดภัย เจตนามุ่งร้าย ก็จะมีการดำเนินการตามมาตรฐานชุมชนโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ เเฟซบุ๊กยังมีช่องทางเฉพาะสำหรับทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, เอ็ตด้า, อย. , กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และบก.ปอท.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโลยี (บก.ปอท.) อีกทั้งยังมีช่องทางเฉพาะสำหรับทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ซึ่งเปรียบเสมือนวัคซีนไซเบอร์ ให้กับผู้ใช้งาน โดยได้มีการจัดทำโครงการให้ความรู้ประชาชนร่วมกับหลากหลายหน่วยงานรวมถึงเอ็ตด้าในการใช้งานโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยและ สร้างสรรค์ รวมถึงการรู้เท่าทันภัยหลอกลวงออนไลน์ โดยสามารถติดตามโครงการให้ความรู้ทักษะพลเมืองดิจิทัลซึ่งเป็นโครงการหลักของเฟซบุ๊กประเทศไทยได้ผ่านช่องทางเพจ We Think Digital Thailand บนเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์ We Think Digital Thailand ที่ https://wethinkdigital.fb.com/th/th-th/

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค