รายงานผลกระทบควบรวมเป็นของประชาชน กสทช. ต้องเปิดเผยก่อนลงมติ

สภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยัน รายงานผลกระทบจากการควบรวมประชาชนเป็นเจ้าของ กสทช. ต้องเปิดต่อสาธารณะ ตามมาตรา 59 (5) ก่อนการลงมติ

จากกรณีที่ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดงานแถลงข่าว “ผู้บริโภค ตอบมติ กสทช. ย้ำ จุดยืนไม่เห็นด้วยควบรวมทรู – ดีแทค” โดยกล่าวถึงผลการศึกษาบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ ที่ กสทช. จ้างให้ทำรายงานศึกษาผลกระทบการควบรวมระหว่าง ทรู และ ดีแทค ที่มีต่อธุรกิจโทรคมนาคม และต่อมานายไตรรงค์ ตันทสุข ได้เข้าแจ้งความกล่าวหา นางสาวสารี อ๋องสมหวัง และ นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ว่านำความลับทางราชการมาเปิดเผย นั้น

วันนี้ (17 ตุลาคม 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าวถึงเหตุผลที่ต้องค้านการควบรวมทรู – ดีแทค โดยมีประธานอนุกรรมการและคณะอนุกรรมการ 8 ด้าน ของสภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมแถลงด้วย ซึ่งความตอนหนึ่งได้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการแจ้งความดังกล่าว โดยยืนยันว่าเอกสารรายงานที่ปรึกษาต่างประเทศจาก บริษัท SCF Associates Ltd. ที่มีการเปิดเผยผลกระทบจากการควบรวมสองค่ายมือถือ ทรู – ดีแทค ในสื่อต่าง ๆ เป็นเอกสารที่ประชาชนเป็นเจ้าของตามกฎหมาย เนื่องจากเงินจัดจ้างเป็นเงินจากผลประโยชน์สาธารณะที่ กสทช. บริหาร และ กสทช. มีหน้าที่เปิดเผยตามมาตรา 59 (5) ของพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2553

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค มีอำนาจตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 โดยได้กำหนดอำนาจของสภาองค์กรของผู้บริโภคไว้ ดังนี้ มาตรา 14 (2) สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้

มาตรา 14 (8) กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคมีอำนาจจัดให้มีหรือรวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อ ผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ทั้งยังระบุอีกว่า การดำเนินการตาม (2) หรือ (8) ถ้าเป็นการกระทำโดยสุจริต ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคพ้นจากความรับผิด

สำหรับประเด็นเรื่องการเปิดเผยรายงานของที่ปรึกษาต่างประเทศนั้น ตามกฎหมาย มาตรา 59 ของพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 บัญญัติให้สำนักงาน กสทช. เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ให้ประชาชนทราบทางระบบเครือข่ายสารสนเทศ หรือวิธีการอื่นที่เห็นสมควรโดยใน (5) ระบุเรื่องการเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยและผลงานอื่น ๆ ที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ

หาก กสทช. มีเจตนาปกปิดข้อมูลสำคัญดังกล่าวอาจถือได้ว่าละเมิดบทบัญญัติตามมาตรานี้ พร้อมทั้งตกการประเมิน ITA หรือ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2561 ที่กำหนดในสาระสำคัญว่า “หน่วยงานรัฐต้องมีความโปร่งใส” ทำหน้าที่อย่างมีคุณธรรม

ทั้งนี้ จากการที่ กสทช. ได้จัดจ้างให้ บริษัท SCF Associates Ltd. ที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศในเดือน กรกฎาคม 2565 ให้ทำรายงานผลกระทบการควบรวมระหว่างสองค่ายมือถือ ทรู และ ดีแทค (A Study on the Impact of a Proposed Merger) ที่มีต่อธุรกิจโทรคมนาคม ในราคา 6,355,388.88 บาท (หกล้านสามแสนห้าหมื่นห้าพันสามร้อยแปดสิบแปดบาทจุดแปดแปดสตางค์) นั้น

ผลการรายงานฉบับนี้ ได้แสดงว่าการควบรวมจะลดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้พื้นที่คนจนและพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สร้างผลกำไรถูกละเลย ทำให้ราคาค่าบริการสูงขึ้น และทำให้เกิดการ “ฮั้ว” ในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ในระยะเกือบหนึ่งปีที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ลแอ๊คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น แสดงเจตนาจะควบรวมกิจการที่มีผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคม ซึ่งจะเหลือคู่แข่งขันใหญ่ในตลาดลดลงจากสามรายเหลือสองราย ทำให้เกิดภาวะผูกขาด

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ได้สะท้อนความเห็นผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบในแง่มุมต่างๆ ที่เป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการที่ต้องมีภาระจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้น และทางเลือกที่น้อยลง ซึ่ง กสทช. มิได้แสดงทีท่ารับฟังการวิจัยและรายงานในประเทศ แม้จะมีการเรียกร้องให้ยุติการควบรวมโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย อีกทั้งศาลปกครอง และกฤษฎีกาตีความอำนาจของ กสทช.โดยยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจพิจารณาการควบรวมครั้งนี้ แต่ กสทช. ก็ยังมีทีท่าบ่ายเบี่ยง

เมื่อ กสทช. ได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ SCF Associates Ltd. ทำงานวิจัย โดยได้ชี้ประเด็นผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ และประชาชนสอดคล้องกับการวิเคราะห์ทางวิชาการในประเทศ กสทช. ยังคงปิดบังรายงานชิ้นนี้ไม่ให้ประชาชนได้รับรู้จนกว่าการลงมติจบลง 

สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอยืนยันว่า รายงานชิ้นนี้เป็นรายงานที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เพราะเป็นเอกสารที่มีเนื้อหาที่มีความสำคัญต่อประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการควบรวมในครั้งนี้ ก่อน กสทช. ลงมติการควบรวมทรู – ดีแทค

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้ กสทช. ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ดำเนินการตามมาตรา 59 (5) โดยเปิดเผยรายงานที่ปรึกษาที่แสดงผลกระทบต่อประเทศจะที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมให้ประชาชนทราบ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค