ลดรถไฟฟ้าทุกสี 20 บาท ลดป่วย PM 2.5  ลดงบรักษา 5 พันล้าน 

สภาผู้บริโภคหนุนกรมรางเดินหน้านโยบายค่าโดยสาร 20 บาท ในรถไฟฟ้าทุกสาย ชี้ ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจได้ปีละ 5 พันล้านบาท ขณะที่ กรมรางฯ เตรียมขยายรถไฟฟ้า สายสีเหลือง – ชมพู ค่าโดยสารราคา 20 บาท

วันที่ 17 มกราคม  2567 กรมการขนส่งทางรางจัดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง โดยภายงานได้จัดให้มีการสัมมนา รับฟังความคิดเห็น และการเสวนาหัวข้อ “โอกาสในการเข้าถึง การพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญ จากนโยบายค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางราง ” โดยมี ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และจุมพฏ สายหยุด ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารกลยุทธ์ บมจ.มติชน เข้าร่วมงานเสวนา 

สารีกล่าวว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคพยายามผลักดันภาครัฐทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ทุกวันเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ด้วยการส่งเสริมนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายทุกสาย อย่างเช่น สายสีแดงและสายสีม่วง แม้ปัจจุบันรถไฟฟ้าสองเส้นทางนี้ประสบปัญหาขาดทุน แต่รัฐบาลก็ได้ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านในการอุดหนุนส่วนต่างค่าโดยสารเพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค

นอกจากรถไฟฟ้าสองสายนี้แล้ว สภาผู้บริโภคคาดหวังว่ารถไฟฟ้าทุกสายที่ลงทุนโดยรัฐและเอกชนไม่ว่าจะเป็นสายสีเหลือง สีชมพู สีน้ำเงิน ควรปรับค่าโดยสารเหลือเพียง 20 บาท โดยเฉพาะสายสีน้ำเงินมีกำไร ควรเป็นเจ้าแรกที่ประกาศว่าจะดำเนินการนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาท ส่วนสายสีเขียวเนื่องจากดำเนินการโดยเอกชนและอยู่ในระยะเวลาสัมปทาน อีกทั้งยังประสบกับปัญหาการขาดทุน ดังนั้นก็สามารถรอระยะเวลาหมดสัมปทาน ทั้งนี้ หากสายสีเขียวเต็มใจที่จะคำนวณตัวเลขที่ต่ำลงกว่าราคาในปัจจุบัน เพื่อรัฐบาลจะทำให้เป็นจริง และทำได้ทุกสาย ประชาชนก็จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบัน

“ความเป็นไปได้ที่รัฐบาลเสนอนโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริง ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเลย ไม่มีประเทศไหนที่ให้ผู้บริโภค ประชาชนจ่ายค่าบริการขนส่งมวลชน 100 เปอร์เซนต์ หลายครอบครัวก็สามารถทุ่นเวลาเดินทาง ได้ทานข้าวเช้ากับครอบครัวได้ ถ้าเราวางแผน นั่นก็คือคุณภาพชีวิตที่สำคัญมากของผู้บริโภค” สารีกล่าว 

ทั้งนี้สารีอ้างอิงถึงรายงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม – 1 มีนาคม 2566 ในประเทศไทยมีผู้ป่วยจากฝุ่น PM 2.5 มากถึง 1,730,976 ราย ขณะที่โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสำหรับแผนกผู้ป่วยนอกที่มาโรงพยาบาลด้วยโรคระบบทางเดินหายใจอย่างน้อย 700 บาทต่อคน รวมเป็นค่าใช้จ่ายมากกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท  ซึ่งนอกจากรัฐจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลแล้ว คนที่ไปโรงพยาบาลก็ต้องเสียค่าเดินทาง หยุดงาน ขาดรายได้ โดยเฉพาะผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่ต้องเสียเงินเดินทางเข้าเมืองเพื่อไปโรงพยาบาล ประเมินเป็นมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท รวมตัวเลขทั้งสองส่วนนี้ก็มากถึง 4 – 5 พันล้านบาท

ดังนั้นสภาผู้บริโภคจึงอยากเห็นทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะทำให้ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนและฝุ่น PM 2.5 ลดลง ที่สำคัญคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนก็จะดีขึ้นมากอีกด้วย

ขณะที่ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า กรมการขนส่งทางรางได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และเดินหน้านโยบาย เร่งด่วน (Quick Win) “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ด้วยกระทรวงคมนาคมต้องการปรับลดอัตราค่าโดยสาร เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเป็นช่องทางให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น จึงได้จัดให้มีมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสายได้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมี 2 โครงการนำร่อง คือ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ และ โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง

โดยหลังจากดำเนินมาตรการ พบว่า มีค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสารระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ในช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.01 และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.85 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสารระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.41  ซึ่งจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย นั้น สูงกว่าคาดการณ์ และทำให้ประเมินตัวเลขที่รัฐต้องชดเชยรายได้ของทั้ง 2สายที่ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี จะลดลงไปด้วย โดยกรมรางจะจัดเก็บข้อมูล เพื่อรายงานต่อกระทรวงคมนาคม ตัดสินใจก่อน วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่จะครบ 1 ปี เพื่อให้นโยบายพิจารณาว่าจะใช้มาตรการ 20 บาทต่อไปหรือไม่ 

ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า กรมรางมีแนวคิดในการขยายมาตรการ ค่าโดยสาร 20 บาท กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) และรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) ที่จำนวนผู้โดยสารอยู่ในระดับ 4 – 5 หมื่นคน ไม่มากเกินไป โดยประเมินว่า รฟม.ยังสามารถนำรายได้ส่วนแบ่งจากสัมปทานสายสีน้ำเงิน มาชดเชยให้ สีเหลืองและสีชมพูได้ ซึ่งจะมีการหารือแนวทางกับกระทรวงคมนาคมในสัปดาห์หน้า ส่วน สายสีน้ำเงินมีผู้โดยสาร เฉลี่ยกว่า 3 แสนคนต่อวัน สายสีเขียวมี 7 – 8 แสนคนต่อวัน ผู้โดยสารค่อนข้างมาก ดังนั้นการชดเชยอาจจะทำลำบาก

สำหรับผลการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ประกอบด้วย 1. อัตราค่าโดยสารระหว่างเมือง คำนวณอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง แบ่งได้ดังนี้ ชั้น 1 : ระยะทาง 100กม. แรก ราคา 1.165 บาทต่อ กม. ,ระยะทาง 101 – 200 กม. ราคา 1.066 บาทต่อ กม. ,ระยะทาง 201 – 300 กม. ราคา 0.981 บาทต่อ กม. ,ระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 0.924 บาทต่อ กม. ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะไม่เกินร้อยละ 25 จากความพึงพอใจที่จะจ่าย

ชั้น 2 : ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 0.610 บาทต่อ กม. ,ระยะทาง 101 – 200 กม. ราคา 0.525 บาทต่อ กม. ,ระยะทาง 201 – 300 กม. ราคา 0.469 บาทต่อ กม. ,ระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 0.420 บาทต่อ กม. ,ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะไม่เกินร้อยละ 25 จากความพึงพอใจที่จะจ่าย และขึ้นค่าโดยสารเฉพาะตู้นอน

ชั้น 3 : ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 0.269 บาทต่อ กม. ,ระยะทาง 101 – 200 กม. ราคา 0.255 บาทต่อ กม. ,ระยะทาง 201 – 300 กม. ราคา 0.200 บาทต่อ กม. ,ระยะทาง มากกว่า 300 กม. ราคา 0.181 บาทต่อ กม.

2. อัตราค่าโดยสารเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณตามมาตรฐานสากล MRT Assessment Standardization (MRT STD) ทั้งค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารตาม (บาท/ก.ม.) ซึ่งคำนวณค่าโดยสารขั้นสูง จาก ค่าแรกเข้า + (อัตราค่าโดยสาร (บาท/กม.) x ระยะทางเปอร์เซนไทล์ที่ 85) และการขึ้นค่าโดยสารจะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค แบบไม่รวมอาหารละเครื่องดื่ม (CPI NFB) กรุงเทพฯ

3. อัตราค่าโดยสารในเมือง ภูมิภาค 7 จังหวัด มีหลักเกณฑ์การคำนวณ โดยใช้ ค่าแรกเข้า (10.79 – 12.17 บาท) และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) (1.94 – 2.19 บาทต่อ กม.) ทั้งนี้ มีหลักเกณฑ์การคำนวณค่าโดยสารขั้นสูง คือ ค่าแรกเข้า + (อัตราค่าโดยสาร (บาท/กม.) x ระยะทางเปอร์เซนไทล์ที่ 85)

4. อัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง เมื่อพิจารณาต้นทุนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว จะกำหนดค่าแรกเข้า (95 บาท) และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) โดยระยะทาง 300 กม. แรก ราคา 1.97 บาทต่อ กม. และระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 1.70 บาทต่อ กม.

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #รถไฟฟ้า #การเดินทาง #ค่าเดินทาง #บริการสาธารณะ #ขนส่งสาธารณะ #ขนส่งมวลชน

ขอบคุณภาพประกอบเรื่อง : Photo by Zaonar Nyaninda from Pexels: https://www.pexels.com/photo/bangkok-mass-transit-system-passenger-train-19391051/