สภาผู้บริโภคแนะรัฐยืดหนี้ กฟผ. ช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชน

สภาผู้บริโภค แนะรัฐบาล ยืดการชำระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกไป แล้วดึง ปตท. ร่วมรับภาระความเสี่ยงเรื่องไฟฟ้า เสนอเดินหน้านโยบายโซลาร์รูฟท็อปด้วยระบบเน็ตมิเตอร์ริง และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในแผนพีดีพีฉบับใหม่ เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง

จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติลดค่าไฟฟ้า จาก 4.10 บาท เหลือ 3.99 ต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง โดยจะเริ่มในรอบบินเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป เช่นเดียวกับ ราคาน้ำมันดีเซล ลดให้ราคาต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยจะเริ่มได้ในเดือน กันยายน 2566 นั้น

วันนี้ (19 กันยายน 2566) อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การลดค่าไฟลงเป็นไปได้ หากมีการยืดการชำระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ออกไป โดยรัฐบาลควรเจรจายืดชำระหนี้โดยสามารถดำเนินการได้จากราคาค่าใช้จ่ายของค่าก๊าซและค่าซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าลูกของ กฟผ. หรือโรงไฟฟ้าในเครือของบริษัทเอกชนต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ใช้เงินจำนวนมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นค่าซื้อไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) กับ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กซึ่งมีอัตราค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูง ดังนั้น กฟผ. กับรัฐบาลต้องตั้งโต๊ะเจรจากับเอกชนมากขึ้น

ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องดึง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมรับภาระความเสี่ยงด้วยเนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มาจาการซื้อก๊าซจาก ปตท. ส่วนการจัดการปัญหาหนี้ของ กฟผ. ระยะยาวนั้น สภาผู้บริโภคเสนอให้ลดภาระการซื้อไฟฟ้าเกินความจำเป็นอย่างเร่งด่วน เช่น การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ

นอกจากนี้รัฐบาลควรผลักดันนโยบายโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยค่าไฟฟ้าแบบหักค่าไฟฟ้าจากหน่วยหรือเน็ตมิเตอร์ริง *(net metering) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควรเปิดช่องให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบเน็ตมิเตอร์ริงและให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัวและมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่จะเป็นระบบใหญ่

ในส่วนการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP) ทั้งในเรื่องแผนพลังงานหมุนเวียนและรวมทั้งแผนในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาในเรื่องการกระจายกำลังการผลิตที่เหมาะสม อิฐบูรณ์ แสดงความเห็นว่ารัฐบาลควรเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และประกาศอัตราค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่เข้ามาใหม่

“ประเด็นเรื่องการลดค่าไฟเป็นนโยบายเร่งด่วนซึ่งควรทำต่อเนื่อง เพราะปัญหาพลังงานเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและเป็นปัญหานโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่ปัญหาความฟุ่มเฟือยของประชาชน” รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคกล่าว

*ค่าไฟฟ้าแบบหักค่าไฟฟ้าจากหน่วยหรือระบบเน็ตมิเตอร์ริง (net metering) คือการเปิดให้ประชาชนที่ติดหลังคาโซล่าร์สามารถผลิตไฟฟ้าส่งจำนวนไฟส่วนเกินจากการใช้ในบ้านให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในเวลากลางวัน และดึงจำนวนดังกล่าวกลับมาใช้ในเวลากลางคืน และสามารถนำหักกลบลบหนี้กับการไฟฟ้าในระยะรอบเดือน หากการใช้ไฟมีปริมาณมากกว่าตามที่ปรากฏในมิเตอร์เจ้าของบ้านก็ต้องจ่ายเงินส่วนต่าง แต่ถ้าสามารถส่งไฟเข้าการไฟฟ้าได้มากกว่า เจ้าของบ้านก็จะได้รับเงินค่าส่วนต่างจากการไฟฟ้าในราคาต่อหน่วยที่การไฟฟ้าคิดค่าไฟฟ้า

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค