คุมเข้ม 19 แพลตฟอร์ม ยกระดับความปลอดภัยผู้บริโภค

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ETDA กำกับดูแล 19 แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง ตามกฎหมาย DPS มีผล 10 ก.ค. 68 มุ่งยกระดับความปลอดภัยผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

เมื่อ 9 กรกฎาคม 2568 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เรื่องการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีความเสี่ยงสูง โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. 2565 หรือที่รู้จักกันว่า “กฎหมาย DPS” โดยการประกาศรายชื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ 19 แห่ง ถือเป็นยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกออนไลน์ ที่มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

ทำไมแพลตฟอร์มเหล่านี้ถึงถูก “คุมเข้ม”

แพลตฟอร์มทั้ง 19 แห่งที่ถูกระบุในประกาศฉบับนี้ ล้วนเป็นผู้ให้บริการที่จัดอยู่ในประเภทมีความเสี่ยงสูงจากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในด้านมูลค่าธุรกรรมที่สูง หรือมีจำนวนผู้ขายและผู้ใช้งานในประเทศในระดับที่มีนัยสำคัญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยรวม ดังนั้น การออกกฎควบคุมจึงไม่ใช่การจำกัดเสรีภาพ แต่เป็นการสร้างความรับผิดชอบร่วมของแพลตฟอร์มในการดูแลระบบนิเวศออนไลน์ให้ปลอดภัยและโปร่งใสขึ้น

โดย ETDA ได้กำหนดให้แพลตฟอร์มที่เข้าเกณฑ์ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 ซึ่งครอบคลุมถึงหน้าที่ในการตรวจสอบและเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ขาย การแสดงข้อมูลสินค้าอย่างชัดเจน การมีระบบแจ้งเตือนเมื่อพบสินค้าหรือบริการที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ตลอดจนการมีแนวทางในการลบสินค้าและบริการที่อาจเป็นอันตราย รวมถึงการร่วมมือกับภาครัฐในการรายงานและเยียวยาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค

19 แพลตฟอร์มที่ถูกกำกับดูแล

ตามประกาศที่ออกโดยราชกิจจานุเบกษา รายชื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถูกกำกับดูแลแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

กลุ่มตลาดออนไลน์

  • ช้อปปี้ (Shopee)
  • ลาซาด้า (Lazada)
  • ขายดี (Kaidee.com)
  • LINE SHOPPING
  • อาลีบาบา (Alibaba)
  • Nocnoc
  • อลีเอ็กซ์เพรส (AliExpress)
  • ดิสช็อป (Thisshop)
  • Taobao
  • เทอมู (TEMU)
  • eBay

กลุ่มเฉพาะทาง & ประมูล

  • ประกาศซื้อขายรถยนต์มือสอง (One2car.com)
  • SIA E-AUCTION SYSTEM
  • รักเหมา (Rakmao)
  • เอสซีจีโฮม (SCGHome)
  • เรดดี้พลาสติก อ๊อคชั่น (ReadyPlastic Auction)

กลุ่มบริการ & ไลฟ์สไตล์

  • Grab
  • วันสยาม แอพพลิเคชั่น (ONESIAM Application)
  • รูทส์แพลตฟอร์ม (ROOTS platform)

ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อะไร

ผู้บริโภคที่ใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้จะได้รับความมั่นใจมากยิ่งขึ้น เพราะประกาศราชกิจจาฯ ในครั้งนี้เป็นการบังคับให้แพลตฟอร์มต้องรับผิดชอบร่วมและดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยจะต้องมีระบบการยืนยันตัวตนผู้ขาย ตรวจสอบข้อมูลสินค้า รวมถึงแสดงหลักฐานประกอบอย่างชัดเจน เช่น ใบอนุญาต หรือเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานรัฐ

นอกจากนี้ เมื่อเกิดปัญหาการซื้อขาย ผู้บริโภคจะมีช่องทางในการร้องเรียนและได้รับการเยียวยาในกรณีที่ได้รับสินค้าปลอมหรือผิดกฎหมาย แพลตฟอร์มต้องจัดการภายในเวลาที่กำหนด ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เหมือนในอดีต ขณะเดียวกันยังต้องรายงานข้อมูลการดำเนินงานให้ภาครัฐ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบย้อนหลังได้หากมีข้อสงสัย

ก้าวต่อไปของการคุ้มครองผู้บริโภคยุคดิจิทัล

มาตรการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพของธุรกิจ กับความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจึงจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคสนับสนุนแนวทางดังกล่าว และพร้อมเป็นกระบอกเสียงให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถปกป้องตนเองได้มากยิ่งขึ้น

หากผู้บริโภคพบปัญหาในการใช้งานแพลตฟอร์มใด ๆ ที่อยู่ในรายชื่อ หรือพบว่าผู้ให้บริการละเลยการปฏิบัติตามกฎหมาย DPS สามารถร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของ ETDA และสภาผู้บริโภค ที่สายด่วน 1502