ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประจำเดือนกันยายน 2566

การประชุมคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 9/2566 ซึ่งมี ภก.ภาณุโชติ ทองยัง กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค เป็นประธานที่ประชุม ได้มีการพิจารณาแนวทางการผลักดันนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีการผลักดันออกกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. เพื่อให้มีการใช้กัญชากัญชงทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม และผู้บริโภคไม่ได้รับอันตรายจากการลักลอบใช้กัญชา กัญชงผสมอาหาร นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังมีข้อห่วงใยเรื่องการใช้น้ำกระท่อมที่มีส่วนผสมอันตรายและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งควรจะมีการเก็บตัวอย่างน้ำกระท่อมมาทดสอบหาสารอันตราย โดยมีคณะทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมทำงานกับสภาผู้บริโภค

กฎหมายฉบับที่สองคือ ร่างพระราชบัญญัติอาหารฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องระบบการเรียกคืนสินค้าและการเพิ่มบทลงโทษของการโฆษณาเกินจริงโดยมีข้อมูลจากงานวิจัยรองรับ

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้มีการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่อเนื่องจากปี 2566 ในการขับเคลื่อนระบบการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหลังออกสู่ท้องตลาด (Post-Marketing) โดยสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ให้มีการสนับสนุนประเด็นนโยบายท้องถิ่นในเรื่องน้ำประปาดื่มได้ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดลำปาง และประเด็นเรื่องอาหารปลอดภัยในจังหวัดลำพูน

ทั้งยังให้มีการติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่อาจจะสร้างผลกระทบกับผู้บริโภคและประชาชนในวงกล้าง คือการติดตามการปรับปรุงแผนดำเนินงานเรื่องความตกลง CPTPP กับ FTA ของรัฐบาล ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า สภาผู้บริโภคควรเพิ่มการรับรู้ให้กับเครือข่ายประชาชนที่มีส่วนได้เสียให้มากขึ้น เพื่อร่วมเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องผลักดันข้อเสนอที่สำคัญ  

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ เห็นควรให้มีการจัดอบรมให้ความรู้กับองค์กรสมาชิกและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย โดยให้สภาผู้บริโภคทำงานร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักอย่างใกล้ชิด

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค